ประกันชีวิตมีกี่ประเภท แต่ละประกันชีวิตเหมาะกับใคร
ประกันชีวิตซื้อไว้เพื่ออะไร ซื้อประกันชีวิตทำไม ประกันชีวิตมีกี่ประเภท เหมาะสำหรับใคร วันนี้ TPIS จะมาชวนคุยเรื่องประกันชีวิตกันบ้าง หลังจากพูดเรื่องประกันรถยนต์มานาน มาเริ่มกันที่ประกันพื้นฐานแบบแรกกันเลยดีกว่า ประกันชีวิต หลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือ
- ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน
- ประกันชีวิตแบบพิเศษ
ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน มี 4 รูปแบบ
1. ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา (Term insurance)
เป็นประกันที่คุ้มครองชีวิตของผู้ทำประกันระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งประกันชีวิตชั่วระยะเวลานี้ค่าเบี้ยประกันจะต่ำ แต่ทุนประกันชีวิตจะสูงมาก และสามารถเลือกระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี และเมื่อเกิดเหตุเสียชีวิต แต่เมื่อหมดระยะเวลาการคุ้มครองแล้วไม่ได้เกิดเหตุอะไรขึ้นจนหมดสัญญา ผู้ทำประกันชีวิตก็จะไม่ได้รับเงินคืน เป็นการจ่ายทิ้งนั้นเอง
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา เหมาะกับใคร
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาเหมาะกับคนที่ต้องการส่งเบี้ยประกันไม่เยอะแต่ต้องการทุนประกันชีวิตสูงๆ สำหรับคนที่ทำงานเสี่ยงสูง หรือกำลังวางแผนทำธุรกิจหรืออาชีพ ที่มีความเสี่ยง เผื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมาคนข้างหลังจะได้ดำเนินชีวิตหรือธุรกิจต่อไปได้
2. ประกันชีวิตตลอดชีพ (Whole life insurance)
เป็นประกันชีวิตที่จ่ายค่าเบี้ยถึงระยะเวลาหนึ่งซึ่งสามารถเลือกชำระเบี้ยได้ตั้งแต่ 10 ปี – 90 ปี และความคุ้มครองยาวนานตลอดชีพจนถึง 90 ปี หรือ 99 ปี (แล้วแต่เงื่อนไขประกันชีวิต) เมื่อหมดอายุสัญญาจะได้เงินคืนเต็มจำนวน นอกจากนี้ประกันชีวิตตลอดชีพยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามกรมสรรพากร)
ประกันชีวิตตลอดชีพ เหมาะกับใคร
เหมาะกับคนที่ต้องการซื้อประกันชีวิต ค่าเบี้ยครั้งละน้อยๆ คุ้มครองนานๆ ต้องการความยืดหยุ่นสูง และประกันชีวิตตลอดชีพถือว่าเป็นประกันชีวิตที่น่าเริ่มทำเป็นประกันชีวิตแรกๆ อีกด้วย เพราะทำความเข้าใจง่ายกว่าประกันรูปแบบอื่นๆ
3. ประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ (Endowment / Saving Insurance)
ประกันชีวิตประเภทนี้อาจจะต้องทำความเข้าใจเรื่องเงินปันผลระหว่างทาง และเรื่องเงินปันผลทบต้น ซึ่งประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะจ่ายเงินต้นพร้อมปันผลให้เมื่อครบอายุสัญญา หรือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 100,000 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามกรมสรรพากร) และมีสภาพคล่องสูงกว่าประกันรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถขอเงินคืนได้ตามเงื่อนไขที่บริษัทประกันกำหนดอีกด้วย
ประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ เหมาะกับใคร
เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต ควบคู่ไปกับการออมเงินแบบระยะยาวเป็นประจำ และมีผลตอบแทนความเสี่ยงต่ำ เพื่อเก็บเงินไว้ใช้สำหรับอนาคตในรูปแบบเงินก้อน
4. ประกันชีวิต แบบบำนาญ (Annuity insurance)
เป็นประกันที่คุ้มครองชีวิตเหมือนกับประกันชีวิตอื่นๆ แต่จะทยอยจ่ายเบี้ยประกันพร้อมผลตอบแทนเล็กน้อยคืนให้เราทุกปีตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อครบอายุสัญญา หรือ เมื่อผู้ทำประกันชีวิต อายุ 55 – 60 ปี จนถึงกำหนดอายุที่เลือกไว้ แต่ถ้าหากเราเกิดเสียชีวิตผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับทุนประกันที่ทำไว้พร้อมกับเงินบำนาญ ที่จ่ายไปทั้งหมดอีกด้วย
ประกันชีวิต แบบบำนาญ เหมาะกับใคร
ประกันบำนาญเหมาะกับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนเล็กน้อยพร้อมกับเงินใช้หลังเกษียณอย่างสม่ำเสมอทุกปี และต้องการส่งต่อมรดกให้ลูกหลานหากเราเสียชีวิตด้วย
ประกันชีวิตแบบพิเศษ มี 2 รูปแบบ
1. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked, Universal Life)
ประกันชีวิตรูปแบบพิเศษนี้ จะแบ่งเบี้ยประกันที่เราจ่ายออกไปเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ทุนประกันชีวิต
- ค่าธรรมเนียม
- การลงทุน
โดย Unit-Linked และ Universal Life จะนำเงินที่เราจ่ายเบี้ยประกันไปลงทุนและเป็นทุนชีวิตให้กับเรา โดยการลงทุนจะมีความแตกต่างกันดังนี้
- Unit-Linked
เราจะสามารถเลือกกองทุนจาก บลจ. ที่บริษัทประกันคัดมาให้เราเลือก ซึ่งทำให้ประกันรูปแบบนี้อาจจะทำผลกำไร หรือ ขาดทุน ให้เราก็ได้ขึ้นอยู่กับกองทุนที่เราเลือกนั้นเอง
- Universal Life
บริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้บริหารกองทุนให้ โดยเราจะไม่สามารถเลือกกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนที่จะลงทุนเองได้ แต่ในทางกลับกันบริษัทประกันชีวิตก็จะการันตีผลตอบแทนที่แน่นอนให้กับเรา
ประกันแบบควบการลงทุนเหมาะกับใคร
ประกันชีวิตรูปแบบควบการลงทุน เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต พร้อมกับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตรูปแบบอื่นๆ แต่จำเป็นต้องสามารถลงทุนระยะยาวหลายปีได้
2. ประกันผู้สูงอายุ (Elderly insurance)
ประกันชีวิตผู้สูงอายุรูปแบบนี้ สามารถซื้อได้ทันที ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามปัญหาสุขภาพ หรือตรวจสุขภาพเลย แต่ค่าเบี้ยจะค่อนข้างแพง เพราะ ผู้ทำประกันชีวิตรูปแบบนี้ถือว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพติดตัวอยู่แล้ว
ประกันผู้สูงอายุเหมาะกับใคร
ประกันชีวิตผู้สูงอายุนี้ เหมาะกับทำเพื่อส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ หรือไม่สามารถทำประกันชีวิตรูปแบบอื่นได้แล้ว เช่น ติดปัญหาสุขภาพ อายุเกิน คุ้มครองไม่ครอบคลุม ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เคยทำสูงขึ้นมาก
สรุป ทำประกันชีวิตแบบไหนดี
เราควรศึกษาประกันทุกรูปแบบก่อนทำประกัน เพื่อเลือก และวางแผนการทำประกันให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของเรา จะไม่ทำประกันเกินความจำเป็นจนจ่ายเบี้ยไม่ไหว แต่ถ้าหากใครต้องการลงทุนร่วมกับการทำประกันชีวิตแนะนำให้ศึกษาหารายละเอียดเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมด้วย แต่ถ้าต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับประกันสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ www.tripetchinsurance.com หรือ โทร.02-792-2160