วิธีเบิกเงินสมทบประกันสังคม กรณีเสียชีวิตทำอย่างไร
TPIS เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราสามารถขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ เมื่อตกงาน ต้องการค่ารักษา คลอดบุตร ทุพพลภาพ และชีวิตหลังเกษียณอายุ แต่รู้หรือไม่ว่า กรณีเสียชีวิตมีวิธีเบิกเงินสมทบประกันสังคมต้องทำอย่างไร แล้วประกันสังคมมาตราไหนถึงสามารถเบิกเงินได้และมีวิธีการอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันครับ
เงินสมทบเข้าประกันสังคมมี 3 ประเภท
1. ประกันสังคมมาตรา 33
ประกันสังคมมาตรา 33 หรือ ม.33 เป็นประกันสังคมสำหรับลูกจ้างที่มีอายุ 15 – 60 ปี และบริษัทฯ มีลูกจ้างมากกว่า 1 คน โดยประกันสังคม จะหักเงินเดือน เดือนละ 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
2. ประกันสังคมมาตรา 39
ประกันสังคมมาตรา 39 หรือ ม.39 เป็นประกันสังคมสำหรับคนที่เคยอยู่ในประกันสังคม ม.33 มาก่อน แต่มีเหตุให้ต้องออกจากงาน และต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ โดยจะต้องจ่ายเงินประกันเดือนละ 432 บาท 3 เดือนขึ้นไป หรือ จ่ายเงินประกันอย่างน้อย 9 เดือน ใน 1 ปี จึงจะรักษาสิทธิ์ไว้ได้
3. ประกันสังคมมาตรา 40
ประกันสังคมมาตรา 40 หรือ ม.40 เป็นประกันสังคม สำหรับอาชีพอิสระ ที่ต้องการสิทธิประกันสังคมโดยมีให้เลือกจ่ายค่าประกันสังคม ทั้งหมด 3 รูปแบบ
- จ่ายประกันสังคม 70 บาท ต่อเดือน คุ้มครอง 3 กรณี
- จ่ายประกันสังคม 100 บาท ต่อเดือน คุ้มครอง 4 กรณี
- จ่ายประกันสังคม 300 บาท ต่อเดือน คุ้มครอง 5 กรณี
สิทธิประกันสังคมและวิธีการขอรับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต
สำหรับสิทธิของประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ม.33 และ ม.39 จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท พร้อมเงินสมทบจากนายจ้าง โดยจะได้รับเงินชดเชยต่อเมื่อจ่ายประกันสังคมอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต โดยจะได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่เคยจ่ายประกันสังคม ดังนี้
- จ่ายประกันสังคม 36 – 119 เดือน จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- จ่ายประกันสังคม 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
สำหรับ ม.40 สิทธิของประกันสังคมรูปแบบที่ 1 และ 2 กรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท หากจ่ายเงินประกันสังคม ครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิตได้รับเงินเพิ่ม 8,000 บาท ส่วน รูปแบบที่ 3 กรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท แต่จะไม่ได้รับเงินเพิ่มเติม
เอกสารขอรับเงินค่าทำศพ
- สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง
- หลักฐานจากสถานที่จัดการศพ
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
เอกสารขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินชดเชย
- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตน และของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)
- สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร
- หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีตาย (ถ้ามี)
วิธีเบิกเงินประกันสังคมกรณีเสียชีวิต
- ผู้จัดการศพ และผู้เกี่ยวข้อง ต้องยื่นเอกสารพร้อมแบบ สปส. 2-01 สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด ตามพื้นที่เขตที่อยู่ หรือยื่นเอกสารทางไปรษณีย์
- รอการตรวจเอกสารหลักฐานพร้อมการอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคม
- รับเงินชดเชย(ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง)
- รับเงินสดหรือเช็ค ด้วยตนเองหรือผู้รับมอบอำนาจ
- รับเงินธนาณัติทางไปรษณีย์
- รับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร
โดยจะได้รับเงินค่าทำศพภายใน 30 วัน หากเอกสารครบถ้วน ส่วนเงินชดเชยผู้เสียชีวิตและเงินบำเหน็จชราภาพ จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้รับประโยชน์ และความพร้อมของเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม
ถึงแม้ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมมาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย ให้คนข้างหลังบางส่วน แต่อาจจะไม่เพียงพอในการจุนเจือคนข้างหลังในระยะยาว เพราะนอกจากค่าจัดงานศพอาจมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากเรามีประกันชีวิต หรือประกันอื่นๆ มาช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้คนข้างหลังของเราก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันรถยนต์ สามารถติดต่อสอบถาม โทร. 02-792-2160 ด้วยความห่วงใยจาก TPIS