เตือนภัย! สแกมเมอร์ กลลวงหลอกเหยื่อยอดฮิต รู้ก่อนไม่โดนหลอก
โลกออนไลน์สังคมไร้พรมแดนที่มีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ TPIS มาแฉวิธี สแกมเมอร์ จะรับมือพวกกลุ่มคนไม่ดีที่ตั้งใจมาหลอกให้คุณโอนเงินโดยไม่เต็มใจ และรู้วิธีป้องกันตัวจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คุณจะไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อโอนเงินในบัญชีธนาคารไปจนหมดตัว หากใครที่กำลังกังวลกับปัญหานี้อยู่ ตามมาอ่านกันเลย
สแกมเมอร์ คืออะไร
สแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่แฝงตัว เป็นบุคคลหรือกลุ่มแก๊งที่ตั้งใจมาหลอกลวง ข่มขู่เหยื่อให้หลงเชื่อ พยายามชักจูงใจให้โอนเงินจนหมดบัญชีหรือหลอกถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อให้ลงทะเบียนหรือติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อควบคุมมือถือดูดเงินออกจากบัญชีจนหมด 3 กลลวงหลอกเหยื่อยอดฮิตที่สแกมเมอร์ใช้บ่อยที่สุด ดังนี้
1. SMS หรือ Email ฟิชชิ่ง (Phishing Scams) หลอกลวงล้วงข้อมูล
สแกมเมอร์จะส่งอีเมลปลอมอ้างว่าเป็นอีเมลจากหน่วยงานราชการหรือบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น ธนาคาร ตำรวจ หรือสรรพากร โดยจะส่ง SMS หรือ อีเมลฟิชชิ่ง หลอกเหยื่อโดยมีข้อความเชิญชวนให้คลิกลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอมหรือแนบไฟล์ที่เป็นอันตราย
จุดสังเกตที่สำคัญ คือ ต้นทางเบอร์โทรศัพท์ที่ส่ง SMS มายังเบอร์ของคุณ เป็นเบอร์ของผู้ให้บริการนั้นหรือไม่ หากคุณไม่แน่ใจ ลองโทรติดต่อสอบถามกับผู้ให้บริการโดยตรงว่ามีโปรโมชันนี้จริงหรือไม่
2. แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเหยื่อให้โอนเงิน
สแกมเมอร์ประเภทแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นกลุ่มบุคคลที่โทรหาเหยื่อและอ้างว่าเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการหรือบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น ไปรษณีย์ ธนาคาร ตำรวจ กรมที่ดินหรือสรรพากร เป็นต้น โดยหลอกเหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีข้อมูลส่วนตัวของคุณหมดแล้ว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ร่วมไปถึงที่อยู่ปัจจุบันของคุณ
แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้กลอุบายต่างๆ หลอกลวงเหยื่อ เช่น
- อ้างว่าเหยื่อมีคดีความและถูกออกหมายจับ
- อ้างว่าเหยื่อมีหนี้สินและจะถูกฟ้องร้อง
- อ้างว่าเหยื่อได้รับรางวัลและจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับรางวัล
- อ้างว่าเหยื่อมีคอมพิวเตอร์ติดไวรัสและจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อกำจัดไวรัส
- อ้างว่าเหยื่อมีพัสดุตกค้างและมีของผิดกฎหมาย
- อ้างว่าเหยื่อมีภาษีที่ดินที่ต้องชำระ
หากคุณได้รับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่รู้จักและอ้างว่าเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น กองปราบปรามยาเสพติด, สถานีตำรวจ, กรมสรรพากร, ไปรษณีย์แห่งประเทศไทยหรือบริษัทที่มีชื่อเสียง อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ หรือถ้ามิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเราก็อย่าไปหลงเชื่อคำข่มขู่ต่างๆ ว่าคุณได้กระทำผิดกฎหมายและถ้าไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากติดคุก ไม่อยากเสียประวัติ ให้โอนเงินมาเพื่อตรวจสอบเงินในบัญชี ดังกล่าว “คุณควรตั้งสติให้ดี” จากนั้นกดปุ่มวางสายไปเลย และโทรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานราชการโดยตรงเพื่อสอบถามข้อมูลความเป็นจริง
และที่สำคัญหน่วยงานราชการหรือธนาคารจะไม่ขอให้คุณแอดไลน์ส่วนตัวเพื่อคุยกันแบบส่วนตัวอีกด้วย
เคล็ดลับป้องกันตัวจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เคล็ดลับในการป้องกันการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ช่วยลดความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้
- อย่าหลงเชื่อคำข่มขู่จากเบอร์บุคคลที่คุณไม่รู้จัก
- อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ กับบุคคลที่คุณไม่รู้จัก
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณกำลังติดต่อกับบุคคลนั้นจริงๆ โดยโทรไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานราชการหรือบริษัทนั้นโดยตรง
- อย่าโอนเงินง่ายๆ ให้กับชื่อบุคคลที่คุณไม่รู้จัก
- อย่ากดดาวน์โหลดข้อมูลที่แนบมาจาก email จากบุคคลที่คุณไม่รู้จัก
- ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและอัปเดตซอฟต์แวร์ของคุณอยู่เสมอ
- แจ้งความกับตำรวจหรือผู้ให้บริการในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้เพื่อแจ้งเป็นเบาะแสในการจับกุมคนร้าย
3. หลอกให้รักและไว้ใจชักชวนลงทุนทำธุรกิจ
สแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพแฝงตัวมาในคราบเพื่อนสนิทที่ทำโปรไฟล์แต่งตัวให้ดูดีดูเป็นคนมีเงินฐานะร่ำรวย ทักหาคุณในช่องทางสังคมออนไลน์ บางทีอาจมาในรูปแบบแอปพลิเคชันหาคู่ จากนั้นหลอกล่อเหยื่อให้หลงรักและเชื้อเชิญให้ร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น ลงทุนในเหรียญคริปโต, ลงทุนในตลาดหุ้น, เล่นวงแชร์ดอกเบี้ยสูง, ออมทอง, ออมเงินได้ผลตอบแทนสูง,โครงการอสังหาริมทรัพย์, โครงการฟาร์ม ฯลฯ
ทั้งหมดที่กล่าวมา มักเป็นคำล่อลวงเหยื่อให้หลงเชื่อและเกิดความโลภ จนทำให้ไม่ได้รับเงินต้นที่ลงทุนคืนได้
เคล็ดลับวิธีป้องกันจากการหลอกให้ลงทุน
จงระลึกไว้เสมอว่า “เงินที่หามาได้อย่างยากลำบาก อย่าสูญเสียมันไปโดยง่าย” โดยคิดง่ายๆ ว่า แค่ลงทุนก็ได้ผลตอบแทนมากมายมหาศาล นั้นมีจริงหรือ!? เพราะไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนเกินความเป็นจริงได้ ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของผลตอบแทนที่ให้ นั้นมาจากการทำธุรกิจอะไร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ปรึกษาครอบครัวหรือผู้ใหญ่หลายๆ คนเพื่อนำคำแนะนำมากลั่นกรองก่อนตัดสินใจลงทุน
สรุป
ยุคสมัยเปลี่ยนไปความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น ทำให้มิจฉาชีพก็พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี คุณต้องมีสติรู้เท่าทัน อย่ากลัวคำขู่และหลงเชื่อคำหลอกลวงให้คุณใช้มือถือโอนเงินให้กับใครง่ายๆ ด้วยความห่วงใจจากตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัยที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์