ยาอะไรเบิกประกันไม่ได้

ยาอะไรเบิกประกันไม่ได้

เหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจทำประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ นั่นเป็นเพราะต้องการลดภาระค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากประกันจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ทั้งหมดหรือตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่ทำไว้ นอกจากนั้นบางกรมธรรม์ยังมาพร้อมเงินชดเชยในระหว่างพักรักษาตัวอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนอาจไม่รู้ว่ามียา หรือเวชภัณฑ์บางตัวที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ทำให้ผู้ทำประกันอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะมียาตัวใดบ้าง เรามีคำตอบมาฝาก

เวชภัณฑ์ (Medical Supplies)

ความหมายของเวชภัณฑ์ หรือ Medical Supplies หมายถึง ยารักษาโรค , วัสดุที่ใช้ในการรักษาโรค , วัสดุที่ในการบำบัด , วัสดุที่ใช้ในการวิเคราะห์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อมีการใช้เวชภัณฑ์เหล่านี้ในการรักษาทางสถานพยาบาลจะคิดค่า ‘ค่าเวชภัณฑ์’ กับผู้ป่วย สำหรับเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้

เวชภัณฑ์ (Medical Supplies)

เวชภัณฑ์ 1 (Medical Supplies 1)

เป็นกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้งานครั้งเดียวทิ้ง ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วย เช่น เข็มฉีดยา , สายน้ำเกลือ , สายยางท่อระบาย , ผ้าพันแผล , ชุดให้ยา , ชุดหยดเล็ก , ถุงมือแพทย์ , เฝือก เป็นต้น เเวชภัณฑ์กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า ‘เวชภัณฑ์สิ้นเปลือง’

เวชภัณฑ์ 2 (Medical Supplies 2)

เป็นกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ภายนอกตัวผู้ป่วย เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เช่น ไม้ค้ำยัน , ไม้เท้ารถเข็น , รถเข็น , รองเท้าคนพิการ , เฝือกพยุงคอ , เครื่องช่วยฟัง , แว่นตา , ฟันปลอม , กายอุปกรณ์ เป็นต้น เวชภัณฑ์กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า ‘เวชภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้’

เวชภัณฑ์ 3 (Medical Supplies 3)

เป็นกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ภายในร่างกายของผู้ป่วย อุปกรณ์อยู่ภายนอกแต่ติดตัวผู้ป่วย หรืออุปกรณ์เทียมที่ใช้ในการรักษา เช่น เหล็กดามกระดูก , วัสดุดามกระดูก , ข้อกระดูกเทียม , หลอดเลือดเทียม , เครื่องกระตุ้นหัวใจ , เลนส์ตาเทียม เป็นต้น เเวชภัณฑ์กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า ‘เวชภัณฑ์ที่ใช้ในร่างกาย’

เวชภัณฑ์ที่ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่จ่าย

สำหรับกลุ่มเวชภัณฑ์ที่ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่ได้ให้ความคุ้มครอง และผู้ทำประกันต้องจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาลเองเมื่อมีนำมาใช้ในการรักษา หรือบำบัด คือเวชภัณฑ์กลุ่มที่ 2 หรือเวชภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องด้วยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในช่วงระยะหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถกลับมาใช้ซ้ำกับผู้ป่วยคนอื่นได้ จึงไม่จัดอยู่ในเงื่อนไขของประกันภัย ส่วนเวชภัณฑ์กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ประกันส่วนใหญ่ให้ความคุ้มครองและรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ทำประกัน ยกเว้นเครื่องกระตุ้นหัวใจ Defibrillator หรือ Pacemaker แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่ละบริษัทด้วย

ข้อยกเว้นที่ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่จ่าย

ข้อยกเว้นที่ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่จ่าย

นอกจากเวชภัณฑ์กลุ่มที่ 2 ที่ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายแล้ว ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังมีข้อยกเว้นการคุ้มครองอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

1.โรคที่เป็นมาก่อน หรือโรคที่ยังมีการรักษา

ถ้าผู้ทำประกันมีโรคประจำตัวก่อนทำประกัน โรคที่อยู่ระหว่างการรักษาและไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าหายจากโรคดังกล่าว โรคบางประเภทที่ถึงแม้จะหายแล้วแต่มีโอกาสเป็นซ้ำได้ บริษัทประกันสุขภาพทุกแห่งจะไม่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลในทุกกรณี และถือว่าเป็นโรคที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการความคุ้มครอง แนะนำให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นให้ประกันรู้อย่างละเอียดให้บริษัทประกันพิจารณา หรือยื่นหนังสือให้บริษัทประกันเพื่อทบทวนเงื่อนไขเมื่อกรมธรรม์อายุครบ 1 ปีได้เช่นกัน

2.การเจ็บป่วยที่อยู่ระยะเวลารอคอย

เชื่อว่าคนที่เคยทำประกันสุขภาพต้องเคยได้ยินคำว่าระยะเวลารอคอย หรือ Waiting Period หมายถึงระยะเวลาที่ไม่สามารถเคลมประกันได้หลังจากทำประกัน เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันจะมีเงื่อนไขเรื่องสภาพที่เป็นก่อนประกัน หรือ Pre – existing Condition ดังนั้นบริษัทประกันจึงต้องมีการกำหนดระยะเวลารอคอยเพื่อระบุเวลาที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ทำประกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบริษัทประกันจะกำหนดระยะเวลารอคอยสำหรับโรคทั่วไปที่ 30 วัน , โรคร้ายแรงที่ 60 – 120 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์ของแต่ละบริษัท ส่วนประกันอุบัติเหตุจะไม่มีการกำหนดระยะเวลารอคอย

3.การตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือแท้งบุตร

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายคนทำประกันมักเข้าใจว่าได้รับความคุ้มครองด้วยคือกรณีการแท้งบุตร เพราะเข้าใจว่าเข้าข่ายความเจ็บป่วยจากสุขภาพ หรืออุบัติเหตุ แต่จริง ๆ แล้วทั้งกรณีการแท้งบุตร ตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด หรือการรักษากรณีมีบุตรยาก จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุทั่วไป แต่หากอยากได้รับความคุ้มครองในระหว่างตั้งครรภ์ให้เลือกซื้อประกันคุ้มครองการคลอดบุตรเพิ่มเติม

4.การพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกายตัวเอง

เพราะการบาดเจ็บจากการพยายามฆ่าตัวตายเกิดขึ้นจากการความตั้งใจทำให้ตัวเองเสี่ยงอันตรายและสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จึงไม่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการพยายามฆ่าตัวตายในทุกรูปแบบ

5.การรักษาโรค หรือภาวะเกี่ยวกับทางระบบประสาท หรือทางจิต

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ หรือภาวะทางจิตของผู้ทำประกัน แต่ถึงอย่างนั้นประกันส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมในส่วนของค่ารักษาพยาบาลโรค หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบประสาท หรือทางจิต ทั้งนี้รวมถึงการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจากโรคจิตเภทด้วย

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับเวชภัณฑ์ที่บริษัทประกันไม่คุ้มครอง ซึ่งนอกจากยา หรือเวชภัณฑ์แล้ว ยังมีหลายกรณีที่อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัย ไม่ว่าประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ รวมถึงประกันประเภทอื่น ควรตรวจสอบความคุ้มครองและเงื่อนไขทุกข้อให้ละเอียด

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ