ไขมันในเลือดสูงกินอะไรได้บ้าง

ไขมันในเลือดสูงกินอะไรได้บ้าง

อย่างที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘ภาวะไขมันในเลือดสูง’ หรือ Hyperlipidemia เป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรง อย่างโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต หรืออาจถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลัน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับไขมันในร่างกายสูงเกินไป …สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับภาวะไขมันในเลือดสูงและไม่รู้ว่าจะต้องเลือกกินแบบไหน วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาฝาก

ไขมันในเลือดสูงอาการเป็นอย่างไร

ก่อนไปดูว่าคนมีภาวะไขมันในเลือดสูงควรกินอาหารประเภทไหนบ้าง ในเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจว่าไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่ไม่มีอาการที่แสดงชัดเจนในระยะแรก แต่เมื่อร่างกายมีการสะสมของไขมันเป็นจำนวนมากในหลอดเลือดแดงจะทำให้มีอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ และภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นถ้าปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หรือหน้ามืด

ดังนั้นถ้าเป็นกังวลควรตรวจ Lipid Profile เพื่อตรวจสอบระดับไขมันในเลือด ซึ่งโดยปกติแล้วระดับของคอเลสเตอรอลต้องต่ำกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอร์ไรด์ต้องต่ำกว่า 150 มก./ดล. และไขมันประเภทเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต้องสูงกว่า 60 มก./ดล. หากระดับไขมันมีความผิดปกติควรรีบดำเนินการรักษาทันที

ไขมันในเลือดสูงควรกินอะไรและไม่ควรกินอะไร

เนื่องจากสาเหตุสำคัญของภาวะไขมันในเลือดสูงเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันชนิดอิ่มตัวและไขมันทรานส์มากเกินไป เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดภาวะไขมันในเลือดสูง โดยลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลสูง แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว อีกทั้งควรใช้วิธีปรุงอาหารด้วยวิธีการที่ไม่ใช้น้ำมัน อย่างการต้ม นึ่ง อบ หรือยำแทน สำหรับอาหารที่คนมีภาวะไขมันในเลือดสูงควรกินและไม่ควรกินมีดังต่อไปนี้

ไขมันในเลือดสูงควรกินอะไรและไม่ควรกินอะไร
  • อาหารที่คนมีภาวะไขมันในเลือดสูงควรรับประทาน ได้แก่ หมูเนื้อแดงไม่ติดมัน , เนื้อปลา , อกไก่ ,ข้าวกล้อง , นมไขมันต่ำ , ขนมปังโฮลวีต , ถั่วเหลือง , ถั่วแดง , เต้าหู้ , ผักสด , ผักสุกด้วยการต้มหรือนึ่ง , ผลไม้สด และไขมันจากพืช อย่างน้ำมันข้าวโพด , น้ำมันงา , น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน , น้ำมันดอกคำฝอย
  • อาหารที่คนมีภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ควรรับประทาน ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด , เครื่องในสัตว์ , กุ้ง , หอย , ปู , ปลาหมึก , อาหารที่มีไขมันสูง , อาหารประเภททอด , อาหารประเภทแกง , ผักที่มีการปรุงสุกด้วยน้ำมันหรือกะทิ , ผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง อย่างทุเรียน , ลำไย , ขนุน , กล้วย , มะม่วงสุก , ผลไม้แปรรูป , ผลไม้เชื่อม , ผลไม้อบแห้ง , น้ำผลไม้ , น้ำมันจากสัตว์ , น้ำมันมะพร้าว , ขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูง , ขนมปรุงด้วยการทอด , ขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไขมันในเลือดสูงดูแลอย่างไร

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวแล้ว คนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

ไขมันในเลือดสูงดูแลอย่างไร
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอด้วยกิจกรรมประเภทแอโรบิก เช่น การวิ่ง , เดินเร็ว , การเต้นแอโรบิก หรือการขี่จักรยาน การออกกำลังกายด้วยเวทเทรนนิ่ง ครั้งละ 20 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดและการสะสมของไขมันแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณไขมันดี หรือ High Density Lipoprotein (HDL) ในร่างกายด้วย
  • ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งคนปกติควรมีค่า Body mass index หรือ BMI ระหว่าง 18.5 – 22.9 kg/m2 ส่วนถ้าอยู่ระหว่าง 23.0 – 24.9 kg/m² ถือว่ามีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน แต่ถ้ามากกว่า > 25 kg/m² จะถูกจัดเป็นโรคอ้วน หรือมีสัดส่วนไขมันในร่างกายผิดปกติ
  • ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเสริมให้สุขภาพแข็งแรง
  • ควรเลิกสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดเพื่อปรับสมดุลของระบบร่างกายให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสุขภาพแข็งแรง
  • ควรตรวจสุขภาพและปริมาณไขมันในร่างกายเป็นประจำทุก 1 หรือ 2 ปี หากอายุเกิน 35 ปี เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะไขมัน แต่กรณีคนในครอบครัวมีประวัติเรื่องโรคประจำตัว อย่างโรคเบาหวาน , โรคความดันโลหิต หรือโรคหัวใจ ควรตรวจทุก 6 เดือน เพราะนอกจากจะมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารแล้ว ยังมีสาเหตุจาภาวะโรค ความผิดปกติทางพันธุกรรม และการใช้ยาบางชนิดด้วย

จะเห็นได้ว่าภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นโรคที่อันตราย ทำให้เสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาภายหลัง แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือเสียชีวิตน้อยลง

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ