โดนสัตว์ทำลายรถ ประกันภัยรถยนต์จ่ายไหม ใครรับผิดชอบ

โดนสัตว์ทำลายรถ ประกันภัยรถยนต์จ่ายไหม ใครรับผิดชอบ

ในระหว่างการขับรถเดินทางไปที่ต่าง ๆ มีอุบัติเหตุมากมายที่เกิดขึ้นกับเราได้ ทั้งแบบที่มีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี หนึ่งในเหตุการณ์ที่หลายคนเคยมีประสบการณ์คือการถูกสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย (กรณีที่เป็นข่าวคือช้างป่าทำให้รถเสียหาย) เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทำให้หลายคนสงสัยและหันมาตั้งคำถามว่าถ้ากรณีแบบนี้เกิดขึ้นกับรถของเรา ประกันจะคุ้มครองหรือไม่? เพราะถ้ามองในความเป็นจริงแล้ว สัตว์ที่ทำให้รถเสียหายได้ไม่ได้มีเพียงแค่ช้างป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงทั้งที่มีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ อย่าง สุนัข , แมว รวมถึงสัตว์ที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับคนอย่างลิง เป็นต้น .. ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ถึงกับต้องหนักใจขนาดนั้น เพราะเหตุรถเสียหายจากสัตว์ป่าไม่ได้เกิดขึ้นกับเราง่าย ๆ รวมถึงประกันรถยนต์ก็ได้คิดเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินลักษณะนี้เอาไว้แล้ว

สัตว์ประเภทอะไรทำลายรถ บริษัทประกันให้ความคุ้มครอง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า สัตว์ที่ทำให้รถเสียหายได้นั้นมีสองลักษณะคือสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง (ทั้งแบบมีและไม่มีเจ้าของ เช่น สัตว์จรจัด) และต้องเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ประกันทุกประเภทจะคุ้มครองความเสียหายประเภทนี้ ซึ่งสามารถสรุปเรื่องความคุ้มครองจากการที่สัตว์ทำให้รถเสียหายแบบเข้าใจง่ายได้ว่า

  • หากถูกสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย (เช่น ช้างป่า) จะเท่ากับว่าเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี เพราะสัตว์นั้นไม่มีเจ้าของ ประกันที่ให้ความคุ้มครองจะมีเพียงแค่ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 (หรือประกันชั้น 1) เท่านั้นที่คุ้มครอง เพราะเป็นประกันประเภทเดียวที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถเนื่องจากอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
  • หากเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ ประกันจะเข้ามาเป็นตัวแทนเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของสัตว์นั้นให้คุณได้ ซึ่งก็ต้องใช้กระบวนการและระยะเวลาในการพิสูจน์ความผิดก่อนที่จะทราบว่าประกันคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน
  • สำหรับประกันชั้นอื่น ๆ จะคุ้มครองกรณีสัตว์ป่าทำให้รถเสียหายได้ก็ต่อเมื่อตัวคุณ หรือผู้โดยสารในรถได้รับอันตรายด้วย โดยจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถ
สัตว์ประเภทอะไรทำลายรถ บริษัทประกันให้ความคุ้มครอง

หากขับรถชนช้าง มีความผิดหรือไม่

การขับรถชนช้างถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยเป็นความผิดตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ในฐานกระทำอันตรายด้วยประการใด ๆ โดยการขับขี่รถชนช้างป่าได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือตาย โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ นอกจากนี้ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายมูลค่าของช้างป่าที่บาดเจ็บหรือตาย เชือกละหลายแสนบาทตามมาตรา 87 และ 88 แห่งพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อีกด้วย

การขับรถชนช้างป่ายังอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบกด้วยในกรณีที่เป็นการชนแล้วหนี โดยพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 ระบุว่า “ผู้ใดขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่ดำเนินการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2 พันถึง 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ครั้งต่อไปที่ขับรถเที่ยวตามอุทยานหรือจุดที่เป็นความเสี่ยง สิ่งที่คุณทำได้คือสังเกตป้ายเตือนเช่นป้าย “โปรดระวังช้างป่า” ซึ่งอาจพ่วงคำเตือนให้ขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ติดตั้งป้ายลักษณะนี้ในจุดที่เห็นได้ชัดจากระยะไกลไว้ตามเส้นทางของอุทยานทั่วประเทศซึ่งมีความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวอาจพบกับช้างป่าได้

ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่

การที่ช้างหรือสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย จัดเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี (เพราะสัตว์ป่าไม่มีเจ้าของ) หากจะเคลมประกันรถยนต์เพื่อให้ประกันชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ จะทำได้เฉพาะกับประกันชั้น 1 เท่านั้น เพราะตามที่ได้บอกไปแล้วว่าประกันชั้น 1 เป็นประกันประเภทเดียวที่คุ้มครองรถจากความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี

อย่างไรก็ตาม สำหรับประกันภาคสมัครใจประเภทอื่น (เช่น ประกันชั้น 2 และ 2 พลัส) หากเกิดอุบัติเหตุรถเสียหายเนื่องจากช้างหรือสัตว์ป่าจนทำให้บุคคลที่อยู่ในรถได้รับอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถในฐานะผู้เอาประกันหรือผู้โดยสาร ก็จะสามารถเคลมประกันได้ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยอื่น ๆ ตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์

ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่

ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลม พรบ. ได้หรือไม่

ประกันรถยนต์ภาคบังคับหรือพรบ. ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองผู้ขับขี่และผู้ที่ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ ฉะนั้นถ้าเกิดกรณีถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย จะเคลมประกันได้เฉพาะในกรณีที่คุณหรือผู้โดยสารในรถได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น โดยจะไม่สามารถเคลมค่าซ่อมรถได้

เมื่อเจอช้างหรือสัตว์ป่าบนถนน ควรทำยังไง

เมื่อเจอช้างหรือสัตว์ป่าบนถนน ควรทำยังไง

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีสติตลอดเวลา เว้นระยะห่างที่เหมาะสม โดยหากเป็นกรณีเจอช้างป่า แนะนำให้หยุดรถห่างจากช้างในระยะ 30 เมตร และหากต้องขับหนี ให้ใช้การถอยหลังอย่างมีสติ และห้ามกดแตร เพราะจะทำให้ช้างตกใจพุ่งเข้าหารถได้ นอกจากนี้การสังเกตป้ายเตือนที่กรมอุทยานฯ ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ก็จะช่วยให้คุณขับรถอย่างระมัดระวังขึ้นได้ โดยสิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดคือจอดถ่ายรูปช้างหรือสัตว์ป่าในระยะใกล้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้การหยุดรถยังเสี่ยงที่จะทำให้รถที่ขับตามมาเกิดอุบัติเหตุได้

ได้รู้แล้วว่าเมื่อเกิดเหตุจากสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย ประกันจะคุ้มครองหรือไม่ แม้จะมีเพียงประกันชั้น 1 ที่คุ้มครองค่าซ่อมรถ แต่ถ้าเป็นค่ารักษาพยาบาล ทั้งประกันภาคบังคับและภาคสมัครใจต่างก็คุ้มครอง และแม้ว่าสัตว์ป่าอาจทำให้รถเสียหายได้ แต่การขับรถอย่างมีสติและสังเกตป้ายเตือนด้วยความระมัดระวัง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในจุดนี้ได้ ทำให้คุณเดินทางได้อย่างสบายใจในทุกทริป

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ