การวางแผนการเงินสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์

การวางแผนการเงินสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งที่มาพร้อมกับอาชีพอิสระ คือ ความไม่แน่นอน แต่หากบริหารจัดการการเงินได้ดี ก็มีความเป็นไปได้ที่อิสระจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความมั่งคั่งในอนาคต ซึ่งการบริหารจัดการเงินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระนั้นไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของการเก็บออมเงิน และการลงทุน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านภาษี และการจัดสรรรายได้ให้อยู่ได้ในระยะยาวแม้ในช่วงไม่มีรายได้เข้ามา

การบริหารการเงินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ผู้ประกอบอาชีพอิสระมักมีรายได้เข้ามาไม่แน่นอน แม้ในช่วงเวลาหนึ่งอาจทำสัญญาจ้างงานกับองค์กรแห่งหนึ่ง แต่ก็จะมีระยะเวลาระบุตามสัญญา เมื่อจบสัญญาก็ต้องหารายได้จากแหล่งใหม่ บางรายมีรายได้จากหลายองค์กรและหลายช่องทาง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น สำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ การบริหารจัดการเงินจึงสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

การบริหารการเงินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ก่อนเริ่มบริหารจัดการ เราควรทราบโครงสร้างรายได้-รายจ่าย ของเราก่อน ด้วยการลิสต์ออกมาเป็นโครงสร้างง่าย ๆ ดังนี้

ประมาณการรายจ่ายประมาณการรายได้ คาดการณ์ยอดคงเหลือ
-รายจ่ายคงที่ 
-รายจ่ายแปรผัน 
-เงินเก็บออม/ลงทุน 
-รายจ่ายฉุกเฉิน 
รวมรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือน 
-รายได้จากการทำงาน
-รายได้จากผลตอบแทนการลงทุน 
-รายได้พิเศษอื่น ๆ
-เหลือ หรือ ขาด ต่อเดือน 
-เหลือ หรือ ขาด เป็นจำนวนเท่าไรต่อเดือน
-เหลือ หรือ ขาด สะสมเป็นจำนวนเท่าไร

เมื่อได้โครงสร้างออกมา เราจะมองภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าขณะนี้รายจ่ายสมดุลกับรายได้หรือไม่ ควรปรับเพิ่มลดในส่วนใด โครงสร้างนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนรับงานเพิ่ม , เพิ่มราคางาน หรือลดรายจ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็นออกไป

นอกเหนือจากเรื่องของรายรับ-จ่ายต่อเดือน ตามโครงสร้างด้านบน กฎเหล็กของผู้ทำอาชีพอิสระอีกหนึ่งข้อ คือการมีกองเงินสำรองมูลค่าเท่ากับรายจ่ายต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องเมื่อประสบกับภาวะเก็บเงินได้ช้า หรือภาวะที่ยังไม่มีงานเข้าในในช่วงเวลานั้น ๆ

วิธีการจัดสรรรายได้ที่ไม่แน่นอนให้อยู่ได้ในระยะยาว

อย่างที่เกริ่นในหัวข้อด้านบนว่าคนทำงานฟรีแลนซ์ควรมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน แต่ในความเป็นจริงหลายคนมียอดเงินสำรองไม่ถึง ดังนั้นเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะมีงานเข้ามาตลอด หรืองานขาดช่วง นั่นคือการหักเงินออมส่วนหนึ่งออกจากรายได้ทันทีก่อนจะนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย เพราะอาชีพอิสระคาดการณ์รายรับได้ยาก แม้เงินจะเข้ามาไม่สม่ำเสมอ แต่เราจำเป็นต้องจ่ายออกอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามา เราจึงไม่ควรนำไปใช้จ่ายจนหมด เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่ารายได้ในอนาคตนั้นจะเข้ามาเมื่อไร แม้ว่าจะมีนัดชำระ แต่เมื่อเงินยังเข้ามาไม่ถึงบัญชีหรือมือของเรา เราก็ไม่สามารถแน่ใจในรายได้นั้น ๆ ได้เลย

เมื่อใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งสะสมเงินในกองเงินสำรองได้ตามเป้าหมายแล้ว ค่อยขยับขยายแบ่งสัดส่วนจากการออมไปลงทุนร่วมด้วย เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองในอนาคต

การจัดการภาษีและสิทธิประโยชน์ที่ควรทราบ

การจัดการภาษีและสิทธิประโยชน์ที่ควรทราบ

รอบปีภาษี เริ่มจากวันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ของทุกปี สามารถยื่นแบบภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป เช่น เราจะยื่นภาษีปี 2567 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 – 31 มี.ค. 2568 เป็นต้น

สำหรับประเภทของรายได้ในแบบภาษี เราควรศึกษารายได้ของเราว่าเข้าเกณฑ์รายได้ประเภทใด ไม่ใช่แค่เพียงให้กรอกแบบยื่นได้ถูก แต่เพื่อประโยชน์ของตัวเราด้วย เนื่องจากรายได้แต่ละประเภทได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างดังนี้

นาย A มีรายได้สองช่องทาง ได้แก่ การออกแบบกราฟิกในฐานะฟรีแลนซ์ให้กับลูกค้าองค์กร และการขายสินค้าออนไลน์ รายได้ของนาย A จึงเข้าเกณฑ์รายได้ประเภท 40 (2) ค่าตอบแทนจากการรับจ้างทำงาน ซึ่งทางองค์กรที่จ้าง จะออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้นาย A นอกจากนาย A ควรเก็บใบหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นหลักฐานแล้ว ยังควรเก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้มาใช้เป็นหลักฐานหักค่าใช้จ่ายของรายได้ประเภท 40 (2) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

อีกหนึ่งช่องทางเข้าเกณฑ์รายได้ประเภท 40 (8) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหรือเหมาจ่าย 60% นาย A ก็ควรเก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้ช่องทางนี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่ายเช่นกัน

สำหรับตัวเลขคาดการณ์รายได้ตลอดทั้งปี เราสามารถประเมินได้จากโครงสร้างรายได้ในตารางด้านบน จากนั้นลองเข้าระบบยื่นแบบภาษีในเว็บไซต์ของสรรพากรเพื่อลองกรอกตัวเลขรายได้ ตัวเลขหักค่าใช้จ่าย , ตัวเลขภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่คาดการณ์ไว้ลงไป อย่าลืมกรอกค่าลดหย่อนต่าง ๆ ลงไปด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว , เบี้ยประกันชีวิต , ค่าเลี้ยงดูบุตร , ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา และอื่นๆ เมื่อกรอกเสร็จเราจะพบผลการคำนวณว่าต้องจ่ายเพิ่ม หรือรับภาษีคืนเป็นจำนวนเท่าไร ใช้เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนภาษีตลอดทั้งปีล่วงหน้าได้

ควรมีประกันอะไรบ้างเพื่อวิธีรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับอาชีพอิสระ

ควรมีประกันอะไรบ้างเพื่อวิธีรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับอาชีพอิสระ

หลัก ๆ ที่ขาดไม่ได้ คือ ‘ประกันสุขภาพ’ และ ‘ประกันอุบัติเหตุ’ เนื่องจากอาชีพฟรีแลนซ์ไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ จากผู้จ้าง การทำประกันให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หากฟรีแลนซ์ท่านใดไม่มีรายได้ประเภทที่เป็น Passive Income ก็อาจทำประกันชดเชยรายได้เพิ่มจากประกันสองประเภทข้างต้น เนื่องจากมีโอกาสขาดรายได้ในระหว่างรักษาตัวซึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ในกรณีประสบอุบัติเหตุหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนาน ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ทำอาชีพอิสระที่มีสำนักงานหรือร้านเป็นของตนเอง ก็ควรทำประกันสำนักงานหรือร้านไว้ด้วย เพราะหากเกิดอัคคีภัย , ภัยโจรกรรม หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ก็จะยังมีเงินจากประกันมาช่วยชดเชยค่าความเสียหายได้

ดูเหมือนการบริหารจัดการทั้งด้านการเงิน , ภาษี และประกันภัยของคนทำงานฟรีแลนซ์จะไม่ง่าย ถือเป็นเรื่องท้าทายอีกเรื่องหนึ่งที่ฟรีแลนซ์ควรบริหารจัดการให้ได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่งคั่งในอนาคต

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ