เป็นหนี้ควรทำประกันไหม
“การเป็นหนี้” ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเป็นหนี้ด้วยสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิต เช่น บ้าน หรือ รถ ซึ่งมีมูลค่าสูงจนไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินสด ‘สินเชื่อ’ จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญ และเมื่อสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อตามที่ได้ยื่นกู้แล้ว นั่นหมายความว่าภาระหนี้สินก็ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีประกันที่ช่วยคุ้มครองดูแลหนี้สินเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต นั่นคือ ‘ประกันคุ้มครองสินเชื่อ’ เพื่อคนมีหนี้
เป็นหนี้ควรทำประกันแบบไหนดี
วิธีใช้ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองครอบครัวจากภาระหนี้สิน
เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน ดังนั้นเหตุการณ์ไม่คาดคิดจึงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในทุกช่วงเวลา การใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเสาหลักของบ้าน การใช้แผนประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองครอบครัวจากภาระหนี้สินไม่ว่าจะประกันสินเชื่อรถยนต์ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือประกันชีวิตตลอดชีพ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีสำหรับอนาคตเพราะหากเป็นอะไรไปหนี้สินทั้งหลายที่มีอยู่ก็จะได้รับการคุ้มครองดูแล และไม่ตกเป็นภาระของครอบครัว
วิธีคำนวณจำนวนเงินเอาประกันให้ครอบคลุมหนี้สินทั้งหมด
1. ประกันสินเชื่อรถยนต์
การทำประกันสินเชื่อรถยนต์ให้ครอบคลุมภาระหนี้สินค่ารถนั้นสามารถระบุจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ (ต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้) พร้อมระยะเวลาการคุ้มครอง ซึ่งสามารถคำนวณได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยจะต้องระบุอายุ เพศ จำนวนเงินที่กู้ซื้อรถ จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ ( ต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้) และระยะเวลาเอาประกันภัยที่ต้องการ โดยโปรแกรมจะคำนวณค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายออกมาให้ ทั้งนี้ค่าเบี้ยประกันสินเชื่อรถยนต์นั้นขึ้นอยู่กับอายุของผู้ทำประกัน ตลอดจนระยะเวลา และจำนวนเงินเอาประกันภัย
ยกตัวอย่างเช่น นาง A เพศหญิง อายุ 30 ปี มีจำนวนเงินกู้เพื่อซื้อรถ 500,000.00 บาท จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ 500,000.00 บาท เลือกระยะเวลาเอาประกัน 8 ปี จากเงื่อนไขนี้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระ คือ 1,725.00 บาท (ครั้งเดียว)
2. ประกันสินเชื่อบ้าน MRTA
ผู้ทำประกันสามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามต้องการทั้งวงเงิน และระยะเวลาคุ้มครอง โดยกรมธรรม์ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาในการคุ้มครองหรือการเอาประกัน 10 ปี , 15 ปี 20 ปี หรือสูงสุด 30 ปี ส่วนวงเงินหรือทุนประกันนั้นมีตั้งแต่ 80% , 90% และ 100% ของวงเงินสินเชื่อที่ขออนุมัติ (ทุนประกันที่เลือกจะมีผลต่อค่าเบี้ยประกัน และหากเลือกทุนประกันไม่เต็มวงเงินสินเชื่อ ผู้เอาประกันหรือทายาทจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้ส่วนที่เหลือ) ปัจจุบันประกันสินเชื่อบ้านให้การคุ้มครอง 2 รูปแบบ ได้แก่
1.การคุ้มครองแบบคงที่ ค่าเบี้ยประกันสูงแต่ให้การคุ้มครองเต็มวงเงินตามทุนประกันที่เลือกตลอดระยะเวลาการคุ้มครอง เช่น ทุนประกัน 3 ล้านบาท ระยะเวลาเอาประกัน 30 ปี ไม่ว่าจะเกิดเหตุช่วงไหนก็จะได้รับการคุ้มครองเต็มวงเงิน
2.การคุ้มครองแบบลดหลั่นตามยอดหนี้คงเหลือ ค่าเบี้ยประกันถูกกว่าแบบแรกเนื่องจากความคุ้มครอง และทุนประกันจะลดลงเรื่อย ๆ ตามยอดหนี้สินเชื่อที่ลดลงในแต่ละปี
ทั้งนี้ในการคำนวณเบี้ยประกันสามารถใช้โปรแกรมอัตโนมัติของแต่ละสถาบันการเงินได้โดยจะต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ปีพ.ศ.ที่เกิด เพศ จำนวนเงินกู้ ระยะเวลาผ่อนชำระ ระยะเวลาการคุ้มครอง และจำนวนเงินทุนประกัน เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น นาง A เพศหญิง อายุ 30 ปี จำนวนเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน 3,000,000.00 บาท จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ 3,000,000.00 บาท ระยะเวลาเอาประกัน 20 ปี จากเงื่อนไขนี้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระ คือ 41,700.00 บาท ( ครั้งเดียว )
3. ประกันตลอดชีพ
เนื่องจากประกันตลอดชีพค่อนข้างมีความหลากหลายจึงมีรายละเอียดและระยะเวลาของการคุ้มครองที่ต่าง ค่าเบี้ยประกันจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละกรมธรรม์ซึ่งสามารถคำนวณได้จากโปรแกรมอัตโนมัติของแต่ละสถาบันการเงินเช่นกัน โดยหากต้องการให้ประกันตลอดชีพมีจำนวนเงินเอาประกันที่ครอบคลุมหนี้สินทั้งหมดนั้นต้องพิจารณาจากผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ เช่น เงินคืนระหว่างทาง หรือเงินก้อน (เมื่อครบสัญญา หรือผู้ทำประกันเสียชีวิต)
ยกตัวอย่างเช่น นาง A เพศหญิง อายุ 30 ปี เลือกแผนประกันคุ้มครองตลอดชีพ 99/9 แสดงว่ากรมธรรม์ฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองชีวิตยาวนานจนถึงอายุ 99 ปี โดยชำระเบี้ยประกันภัยระยะสั้นเพียง 9 ปีเท่านั้น หากนาง A ต้องการจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท จากข้อมูลนี้เมื่อนำไปเข้าโปรแกรมคำนวณจะทำให้ทราบว่า นาง A ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยรายปีจำนวน 54,000.00 บาท มีระยะเวลาเอาประกันภัย 69 ปี และได้รับผลประโยชน์รวมทั้งความคุ้มครองตามเงื่อนไขสัญญากำหนด สามารถเข้าเช็คเบี้ยประกันชีวิตออนไลน์ได้ ที่นี่
ข้อดีของการมีประกันชีวิตเมื่อคุณมีหนี้สินระยะยาว
แม้ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขบังคับให้ต้องทำ แต่ทว่าประกันสินเชื่อรถยนต์ , ประกันสินเชื่อบ้าน และประกันตลอดชีพ ล้วนเป็นหลักประกันที่ดีในการคุ้มครองความเสี่ยงต่อหนี้สินระยะยาวทั้งตัวผู้กู้เองและครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง (หากเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร) สำหรับประกันสินเชื่อบ้าน MRTA นั้นยังสามารถผ่อนชำระพร้อมค่างวดผ่อนบ้าน และในเงื่อนไขทำประกันบ้านตัวนี้ ผู้ขอกู้มักได้รับข้อเสนอสุดพิเศษด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ทำประกันบ้าน สำหรับประกันตลอดชีพ และประกันสินเชื่อบ้าน MRTA ยังนำไปใช้ลดหย่อนภาษี และสามารถขอเวนคืนกรมธรรม์ได้ (กรณีผ่อนชำระสินเชื่อครบก่อนกำหนดสัญญาสินเชื่อบ้าน)
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป และจะดียิ่งกว่าถ้ามีหนี้แล้วรู้จักบริหารความเสี่ยงนั้นด้วยความเข้าใจ ‘ประกันสินเชื่อ’ ทางเลือกเพื่อความอุ่นใจของคนเป็นหนี้
ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ