โรคซึมเศร้าอาการเป็นอย่าง พร้อมวิธีสังเกต และวิธีดูแล

โรคซึมเศร้าอาการเป็นอย่าง พร้อมวิธีสังเกต และวิธีดูแล

โรคซึมเศร้า เป็นโรคยอดฮิตที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เพราะสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงปัจจัยภายในอีกหลายด้านทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้วิธีสังเกตอาการ , การดูแลตนเองหรือผู้ป่วย รวมถึงแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองหรือคนใกล้ชิดได้อย่างเหมาะสม

โรคซึมเศร้า (Depression) คืออะไร

โรคซึมเศร้า (Depression) คืออะไร

โรคซึมเศร้า (Depression) คือ อาการผิดปกติทางอารมณ์ทำให้เกิดความเศร้าซึม เฉยชา ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่ยินดียินร้าย ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยไว้จนอาการรุนแรงอาจทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ส่งผลต่อสุขภาพจิต หรือถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความเครียด ความเศร้า หรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วหายไปได้เอง แต่อาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง การรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลา ความสม่ำเสมอ และความเข้าใจจากคนรอบข้าง หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้ามีหลายอย่าง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งอาการทางร่างกายและอาการทางจิต มีอาการทั่วไป ดังนี้

  • รู้สึกเศร้าซึม เบื่อง่าย ท้อแท้กับชีวิตและสิ่งรอบตัว
  • เลิกสนใจงานอดิเรกหรือสิ่งที่เคยชอบ ถึงแม้จะเคยชอบมาก
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น กินน้อยหรือมากผิดปกติ จนส่งผลให้น้ำหนักตัวขึ้น – ลงกะทันหัน
  • พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป อาจหลับยาก นอนไม่หลับ หรือนอนหลับนานผิดปกติ
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา
  • เฉื่อยชา หมดแรง ไม่มีพลังในการใช้ชีวิต
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและโทษตัวเองเป็นประจำ
  • สมาธิสั้น ไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้
  • คิดวนเวียนเกี่ยวกับความตายและการฆ่าตัวตาย

อาการซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ในเด็กและวัยรุ่นอาจทำให้เด็กที่ป่วยมีพฤติกรรมติดพ่อแม่ , รู้สึกหงุดหงิดง่าย , รำคาญสิ่งรอบตัว , วิตกกังวล , เครียด , มองโลกในแง่ร้าย , ไม่เข้าสังคม ส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ บางรายอาจใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนอาการในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุสามารถพบได้บ่อย คือ พฤติกรรมเปลี่ยนไป , สมาธิและความจำถดถอยลง , อ่อนเพลีย , เหนื่อยง่าย , เบื่ออาหาร , หมดความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์แม้จะยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ , มีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย และมักคิดเรื่องการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งด้วย

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้าไม่ปรากฏแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • 1. พันธุกรรม
    หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าทางพันธุกรรมขึ้นได้
  • 2. ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
    สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองส่งผลกระทบโดยตรงต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของคนเรา การเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของสารสื่อประสาทเหล่านี้จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้าได้
  • 3. การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
    มีรายงานทางการแพทย์ระบุว่าสมองของผู้ป่วยซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แม้จะยังไม่แน่ชัดแต่ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
  • 4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
    หากฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และช่วงวัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสูง

วิธีการดูแลสุขภาพจิตและแนวทางการรักษา

วิธีการดูแลสุขภาพจิตและแนวทางการรักษา

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้หากเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลังสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุข ซึ่งเปรียบเสมือนมอร์ฟีนตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ลดความเครียด มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ทำให้สุขภาพกายและใจแข็งแรงไปพร้อมกัน

2. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

การนอนอย่างมีคุณภาพคือการเข้านอนด้วยความสุข สงบ ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อให้สามารถนอนหลับได้สนิทในระยะเวลาที่เหมาะกับช่วงวัย โดยช่วงอายุ 6 – 12 ปี ควรนอน 9 – 12 ชั่วโมง / ช่วงอายุ 13 – 18 ปี ควรนอน 8 – 10 ชั่วโมง และวัยผู้ใหญ่ควรนอน 7 – 9 ชั่วโมง

3. กินอาหารที่มีประโยชน์

เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลดอาหารทอด , มัน , เค็ม และอาหารรสจัด รวมถึงกินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร , วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้สมาธิ การรับรู้ และความสามารถในการตัดสินใจลดลง อาจกระตุ้นให้อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้น

5. ใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก

เปิดใจพูดคุยกับเพื่อน คนรัก และคนในครอบครัว ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารร่วมกัน , การเล่นเกม , ทำงานอดิเรก หรือแม้แต่ช่วยกันทำงานบ้านในวันหยุด หากรู้สึกว่าภาวะซึมเศร้ากำเริบ อย่ากลัวหรือลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวของเรา

ส่วนการรักษาทางการแพทย์ ปัจจุบันมีแนวทางที่ได้รับความนิยม ดังนี้

1. การรักษาแบบจิตบำบัด

การรักษาแบบจิตบำบัดคือการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักบำบัดผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ การพูดคุยจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถระบุพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออาการซึมเศร้า และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวได้อย่างเข้าใจ รวมถึงช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้มีภาวะซึมเศร้าได้ทำความเข้าใจอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อหาแนวทางการรักษาด้านอื่นควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม

2. การกินยา

ภาวะซึมเศร้า สามารถรักษาและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการกินยาตามใบสั่งแพทย์ที่เรียกว่า ‘ยาต้านอาการซึมเศร้า’ ยาประเภทนี้จะช่วยเปลี่ยนสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ตามยาต้านซึมเศร้ามีหลายประเภท จึงไม่ควรซื้อยากินเอง แต่ควรกินยาตามแพทย์สั่งเพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด

3. การแพทย์ทางเลือก

ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกใช้การแพทย์ทางเลือกร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฝังเข็ม , การนวดแผนไทย เป็นต้น

4. การกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าสมอง

การบำบัดด้วยการกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถรักษาผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงหรือภาวะซึมเศร้าจนส่งผลกระทบทางจิตให้อาการบรรเทาลงได้ อย่างการบำบัดด้วยไฟฟ้ากระตุ้น (ECT) , การกระตุ้นแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ (TMS) และการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (VNS) โดยแพทย์จะเป็นผู้หาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน

โรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจ แต่สามารถรักษาได้หากมีความเข้าใจภาวะที่เกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญการดูแลตัวเองเบื้องต้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ภาวะซึมเศร้าทุเลาลง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ