วิธีจัดการการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

วิธีจัดการการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ใครที่ติดตามข่าวสารเป็นประจำ คงรู้ว่าช่วงสองสามปีนี้เศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก เราอาจจะกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ก็เป็นไปได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถจัดการอะไรได้ วิกฤตที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อทุกคน ทั้งในด้านรายได้ การจ้างงาน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ฟังแบบนี้แล้วหลายคนคงรู้สึกตรงกันว่าเป็นเรื่องน่ากลัว แต่อยากบอกว่าการเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจผันผวนอย่างมีแผนและการปรับตัวที่เหมาะสม สามารถช่วยรักษาความมั่นคงทางการเงินให้คุณได้ ทั้งในระดับของคนทั่วไปรวมถึงนักลงทุน

เทคนิคการรักษาความมั่นคงทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจผันผวน

1. เตรียมพร้อมด้วยการมีเงินสำรอง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าในการวางแผนการเงินเพื่อให้เกิดความมั่นคง เราควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ นอกจากรายได้ประจำแล้ว เราควรมีเงินที่ทำให้อยู่ได้อย่างน้อย 3-6 เดือนในกรณีที่ไม่มีรายได้เข้ามา เพราะหากเกิดวิกฤตขึ้นจริง เงินส่วนนี้จะช่วยให้เราอยู่รอดได้ในขณะที่มองหาช่องทางเพื่อจัดการสถานการณ์ให้ดีขึ้น โดยเงินสำรองส่วนนี้จะอยู่ในรูปใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เงินฝากประจำ กองทุนรวม ทองคำ หรือแม้แต่สินทรัพย์อื่นที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้รวดเร็ว

2. มองหาช่องทางสร้างรายได้เสริม

มองหาช่องทางสร้างรายได้เสริม

บางคนอาจบอกว่าเพียงแค่รายได้ประจำอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้มีเงินสำรอง 3-6 เท่าของเงินเดือนได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าในช่วงนี้ที่คุณยังมีรายได้ประจำ และมีความสามารถพอที่จะทำอาชีพเสริมได้ หากเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ โอกาสการมีเงินสำรองตามข้อแรกก็คงไม่ใช่เรื่องยาก

3. ติดตามข่าวสารการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ข้อนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนหรือช่วงเกิดวิกฤต รัฐบาลมักมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแม้แต่มาตรการจัดการหนี้สิน หากคุณมีหนี้ที่เข้าเกณฑ์ขอรับความช่วยเหลือได้ หรืออยู่ในข่ายรับสิทธิ์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การรู้ข่าวและเข้าร่วมโครงการได้ทัน ก็จะช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินให้คุณได้

การจัดสรรเงินสดในช่วงวิกฤตเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

การจัดสรรเงินสดในช่วงวิกฤตเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

วิธีจัดสรรเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งใช้ได้ทั้งในช่วงปกติและช่วงที่เกิดวิกฤต การทำบัญชีจะช่วยให้คุณรู้ว่าค่าใช้จ่ายอันไหนที่จำเป็นจริง ๆ (ค่าน้ำ , ค่าไฟ , ค่าอาหาร ฯลฯ) และค่าใช้จ่ายรายการไหนที่ไม่จำเป็นหรือสามารถตัดออกไปได้ (ค่าช็อปปิ้ง , ท่องเที่ยว ฯลฯ) การจัดสรรเงินสดให้เพียงพอทำได้โดยการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับคนที่มีหนี้สิน เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินเอาไว้ ควรรวบรวมรายการหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ จากนั้นดูว่ามีหนี้รายการไหนที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้หรือไม่ หนี้รายการไหนที่อยู่ในมาตรการให้พักชำระได้ และหนี้รายการไหนที่ต้องจัดการเร่งด่วน สิ่งสำคัญในระยะนี้คือต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มเพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นจนยากที่จะแก้ไขได้

อีกหนึ่งเทคนิคที่สำคัญคือ หากพบว่ามีรายจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพอยู่ ขอแนะนำให้พยายามจ่ายค่าเบี้ยต่อไป (ยกเว้นมีสวัสดิการที่ดีซึ่งสามารถดูแลคุณได้) เพราะความมั่นคงด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ หากเจ็บป่วยในช่วงวิกฤต อย่างน้อยประกันที่มีก็ยังดูแลคุณได้

อ่านแล้วหรือยัง?

WangJai and MaanJai

วิธีการปรับการลงทุนและลดความเสี่ยงในช่วงตลาดไม่แน่นอน

วิธีการปรับการลงทุนและลดความเสี่ยงในช่วงตลาดไม่แน่นอน

1. ปรับพอร์ตการลงทุนให้สมดุล

การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น , ตราสารหนี้ , ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้ นอกจากนี้การลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ (DCA) ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับการลงทุนของคุณในช่วงที่ตลาดผันผวนได้

2. หลีกเลี่ยงการตัดสินใจด้วยอารมณ์

ในช่วงที่ตลาดผันผวน การขายสินทรัพย์ด้วยความตื่นตระหนกอาจทำให้เกิดการขาดทุนและเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในระยะยาว (เช่น เสียโอกาสการซื้อเพิ่มในช่วงที่ราคากำลังมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับขึ้น) ควรยึดตามแผนการลงทุนเดิมและมองถึงผลตอบแทนในระยะยาว

3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน

หากคุณไม่มั่นใจในแผนการลงทุน การปรึกษานักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการลงทุนจะช่วยให้คุณได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้คุณลงทุนอย่างมั่นคงต่อไปได้

ในสภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การวางแผนด้านการเงินและการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ การตัดสินใจด้วยสติ ร่วมกับความรู้และประสบการณ์ จะช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ และเมื่อตอนนี้คุณยังอยู่ในฐานะที่เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตได้ จึงควรเตรียมพร้อมสร้างความมั่นคงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่หากถึงเวลาที่วิกฤตเกิดขึ้นจริงจะได้สามารถพาตัวเองผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นได้อย่างราบรื่น

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ