5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่คุณอาจไม่เคยรู้

5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่คุณอาจไม่เคยรู้

ประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญสำหรับการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพของเราและครอบครัว เพราะหลายโรคต้องใช้การรักษาต่อเนื่องและมีค่ารักษาค่อนข้างสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ได้เตรียมเงินสำรองไว้ หลายคนจึงมองว่าการทำประกันสุขภาพถือเป็นการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพราะหากเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไหร่ ประกันสุขภาพจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้เรา ไม่ว่าจะเป็นค่าหมอ , ค่ายา , ค่าห้องพักในโรงพยาบาล , ค่ารักษาโรคร้ายแรง ฯลฯ .. แม้ว่าการทำประกันสุขภาพจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีเรื่องที่บางคนอาจเข้าใจผิดอยู่ ผู้ที่คิดจะทำประกันสุขภาพจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันสุขภาพ 5 ข้อ มีดังนี้

มีโรคประจำตัว ทำประกันไม่ได้

มีโรคประจำตัว ทำประกันไม่ได้

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับประกันสุขภาพคือ “หากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว จะไม่สามารถทำประกันได้” เพราะความคิดที่ว่าประกันจะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือ แม้ว่าการมีโรคประจำตัวอาจทำให้เงื่อนไขการรับประกันแตกต่างจากคนทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้เลย เพราะบริษัทประกันจะพิจารณาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและความรุนแรงของอาการ ซึ่งความเป็นไปได้คือ

  • บริษัทประกันอาจปฏิเสธการรับประกันสำหรับบางโรคที่มีความเสี่ยงสูง (แต่คุณยังคงทำประกันได้โดยรับความคุ้มครองโรคอื่นได้ตามปกติ) กรณีที่เป็นไปได้คือได้รับอนุมัติกรมธรรม์ แต่มีเงื่อนไขคือยกเว้นโรคที่คุณเป็นมาก่อนแล้ว ซึ่งคุณจะรู้เงื่อนไขนี้ตั้งแต่แรก
  • อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือได้รับความคุ้มครองตามปกติ แต่ต้องจ่ายเบี้ยสูงกว่าคนอื่นที่ทำประกันประเภทเดียวกันโดยไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งถ้าเจอเงื่อนไขแบบนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก

คุ้มครองทันทีที่ทำ

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือ “เมื่อทำประกันสุขภาพแล้วสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันทีหลังจากที่กรมธรรม์มีผลบังคับ” ทำให้บางคนซื้อประกันก็ต่อเมื่อทราบว่าตัวเองกำลังจะป่วย หรือใกล้ถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ข้อเท็จจริงคือประกันสุขภาพมีเงื่อนไขการคุ้มครองที่เรียกว่า ‘ระยะเวลารอคอย’ (Waiting Period) ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่กรมธรรม์ยังไม่คุ้มครองแม้ว่าคุณจะจ่ายเบี้ยประกันไปแล้วก็ตาม ระยะเวลารอคอยมีไว้เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบริษัทประกัน เพราะอาจมีคนบางกลุ่มที่ป่วยและต้องการมาทำประกันเพียงเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ในทันที

ระยะเวลารอคอยของแต่ละกลุ่มโรคจะไม่เท่ากัน โดยในระยะ 30 วันแรก จะไม่คุ้มครองการรักษาโรคทั่วไป (ยกเว้นถ้าคุณทำประกันอุบัติเหตุ คุณจะได้รับความคุ้มครองทันที) ส่วนกลุ่มโรคร้ายแรง ระยะเวลารอคอยจะอยู่ระหว่าง 90-120 วัน และอาจมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละกรมธรรม์ ซึ่งคุณจำเป็นต้องศึกษาให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง

จ่ายเบี้ยเท่าเดิมตลอดไป

จ่ายเบี้ยเท่าเดิมตลอดไป

หลายคนคิดว่าเมื่อตัดสินใจทำประกันสุขภาพและตกลงจ่ายเบี้ยตามสัญญาแล้ว เบี้ยจะคงที่ตลอดอายุกรมธรรม์ หรือเมื่อต่ออายุประกันในปีต่อไปกับบริษัทเดิม เบี้ยก็จะคงที่ไปตลอด ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะไม่คงที่ตลอดไป แต่จะมีการปรับขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น:

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลและความเสี่ยงด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้น ทำให้เบี้ยประกันต้องปรับเพิ่มตามไปด้วย ความจริงข้อหนึ่งคือยิ่งเริ่มทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุน้อย ค่าเบี้ยยิ่งถูกกว่า เพราะความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยมีน้อยกว่า
  • ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น หากค่ารักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น บริษัทประกันย่อมปรับเพิ่มเบี้ยตามสภาวะตลาด
  • การเปลี่ยนแปลงของกรมธรรม์ บางบริษัทมีการปรับปรุงความคุ้มครองเพิ่มเติม ทำให้เบี้ยประกันต้องเพิ่มขึ้นตาม

ครอบคลุมทุกโรค

บางคนเข้าใจว่า เมื่อทำประกันสุขภาพแล้วจะได้รับความคุ้มครองทุกโรคทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ความจริงก็คือประกันสุขภาพไม่ได้ครอบคลุมทุกโรค โดยทั่วไปจะมีข้อยกเว้น (Exclusions) ที่ประกันจะไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะระบุไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ เช่น

  • โรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น โรคที่เกิดจากการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • โรคทางพันธุกรรมบางประเภทที่ถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์
  • โรคที่เกิดขึ้นก่อนทำประกัน (Pre-existing Conditions) หากไม่ได้รับการพิจารณาให้คุ้มครอง
  • กลุ่มโรคร้ายแรง (มะเร็ง , โรคหัวใจ , หลอดเลือดสมอง ฯลฯ) ซึ่งจะมีแค่บางแผนประกันเท่านั้นที่คุ้มครอง

ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี

หลายคนเชื่อว่า เมื่อทำประกันสุขภาพแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลย ทุกอย่างบริษัทประกันจะจัดการให้ทั้งหมด แต่ความจริงไม่ใช่ทุกกรณีที่จะเป็นแบบนั้น มีอย่างน้อย 4 กรณีที่คุณอาจต้องสำรองจ่าย หรือแม้แต่จ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้นเอง คือ

  • กรณีที่ 1เมื่อเข้ารับการรักษาในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของบริษัทประกัน (กรณีนี้คุณต้องสำรองจ่ายไปก่อน และเคลมประกันตามขั้นตอนของบริษัท)
  • กรณีที่ 2 เมื่อทำประกันแบบเหมาจ่าย แต่มีค่ารักษาบางส่วนที่เกินจากวงเงินสูงสุด (ส่วนนี้คุณจะต้องจ่ายเอง)
  • กรณีที่ 3 เมื่อทำประกันที่มีความรับผิดชอบส่วนแรก หรือ Deductible (กรณีนี้คุณจะต้องจ่ายค่ารักษาส่วนแรกตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไข และบริษัทประกันจะรับผิดชอบส่วนที่เหลือตามสัญญา)
  • กรณีที่ 4 เมื่อมีค่ารักษาที่ต้องรอการอนุมัติจากบริษัทประกันก่อน (ส่วนนี้คุณต้องสำรองจ่าย และส่งเอกสารเพื่อรอผลการอนุมัติ)

การทำประกันสุขภาพมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือผู้ทำประกันจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ ซึ่งเราขอปิดท้ายวันนี้ด้วยการสรุปความเข้าใจผิดทั้ง 5 ข้อแบบเข้าใจง่าย ดังนี้

  • 1. มีโรคประจำตัว ทำประกันไม่ได้ → ทำได้ แต่อาจมีเงื่อนไขบ้าง
  • 2. คุ้มครองทันทีที่ทำ → ต้องรอให้ผ่านระยะเวลารอคอย
  • 3. จ่ายเบี้ยเท่าเดิมตลอดไป → ค่าเบี้ยเปลี่ยนแปลง โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
  • 4. ครอบคลุมทุกโรค → คุ้มครองตามรายละเอียดและข้อยกเว้นในกรมธรรม์
  • 5. ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี → บางกรณีก็ต้องสำรองจ่าย

นี่คือ 5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ควรศึกษาไว้เสียก่อน เมื่อถึงเวลาต้องเคลมประกัน จะได้ไม่หัวเสีย อีกทั้งจะได้เตรียมตัว เตรียมเงิน มีกระเป๋าเงินฉุกเฉินไว้เผื่อในกรณีที่ต้องจ่ายสำรอง หรือส่วน Deductible ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ