เจ็บป่วยไม่สบายระหว่างท่องเที่ยวต่างประเทศทำอย่างไรดี ?

เชื่อได้เลยว่าหากใครได้มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ คงเตรียมตัววางแผนเพื่อประสบการณ์ที่ดี แต่สิ่งที่มักจะถูกมองข้ามเสมอคือการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะการเจ็บป่วยหรือไม่สบายทั้งก่อนไปและระหว่างท่องเที่ยว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะประเทศที่มีภูมิอากาศแตกต่างจากประเทศไทยอย่างประเทศในแถบยุโรปที่มีอากาศหนาว หรือประเทศในแถบแอฟริกาที่มีอากาศร้อนชื้น อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและเกิดอาการไม่สบายได้ นอกจากนี้อาหารการกินที่แตกต่างกัน หรือการไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นชินก็อาจทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ดังนั้นการเตรียมตัวให้ดีก่อนออกเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ป่วยระหว่างเที่ยวต่างประเทศ ต้องทำอย่างไร
หากคุณรู้สึกไม่สบายระหว่างท่องเที่ยว สิ่งแรกที่ควรทำคือ
- ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้ประเมินอาการป่วยด้วยตนเองเบื้องต้น หากเป็นอาการเล็กน้อย เช่น ปวดหัว เป็นไข้ มีน้ำมูก หรือท้องเสียเล็กน้อย สามารถใช้ยาที่เตรียมไปจากบ้านได้
- พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ
- บางครั้งร่างกายต้องการเวลาในการปรับตัวและพักฟื้นจากการเดินทาง หากมีไข้หรืออ่อนเพลีย ควรพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ
- หากรุนแรงให้ไปโรงพยาบาล
- หากพบว่ามีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง , อาเจียน , หายใจลำบาก , อุบัติเหตุที่ทำให้เดินทางต่อไม่ได้ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ติดต่อไกด์ท้องถิ่นหรือโรงแรม เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับสถานพยาบาลใกล้เคียง โดยเฉพาะโรงพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะมีคำว่า International Hospital หรือคลินิก เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยกับชาวต่างชาติเพื่อแนะนำให้ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานสากล รวมไปถึงความคุ้นเคยในการเคลมประกัน
- ใช้ล่ามหรือแอปพลิเคชันแปลภาษาเพื่อบอกอาการ สำหรับใครที่มีปัญหาในด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศ แนะนำให้ใช้ล่ามหรือแอปพลิเคชันเพื่อแปลภาษาสำหรับการสื่อสาร
- เตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อแจ้งประวัติ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเดินทาง ประกันการเดินทาง หรือแม้แต่หนังสือรับรองการเจ็บป่วยที่บ่งบอกว่ามีโรคประจำตัวหรือแพ้ยา แสดงให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะได้ทำประวัติคนไข้ในการรักษาและรักษาได้อย่างถูกต้อง
- หากมีอาการรุนแรงและต้องการช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้แจ้งสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้น ๆ
- หากทำประกันเดินทางไว้ ให้ติดต่อกับ Call Center ของบริษัทประกันภัยนั้น ๆ เพื่อแจ้งรายละเอียดและขอความช่วยเหลือ
- หลังเข้ารับการรักษาเป็นที่เรียบร้อย ให้ขอเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นไปในตอนแรกกลับคืนให้ครบ รวมไปถึงใบเสร็จรับเงิน หนังสือรับรองแพทย์ เพื่อใช้ในการเคลมประกันเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย
การใช้ประกันการเดินทางและวิธีขอค่ารักษาพยาบาล
ประกันการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและความกังวลเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะการเจ็บป่วยระหว่างท่องเที่ยวหรืออุบัติเหตุร้ายแรง หากจำเป็นที่จะต้องใช้ประกันการเดินทางมีวิธีการดังนี้
- ติดต่อบริษัทประกัน
หากพบว่าตนเองเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุขั้นรุนแรง ให้แจ้งบริษัทประกันเพื่อแจ้งอาการป่วย บริษัทประกันจะได้ประสานงานกับสถานพยาบาลที่คุณเข้ารับการรักษา ซึ่งบริษัทประกันบางแห่งอาจมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่คุณสามารถใช้บริการได้โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่ายก่อน
- เก็บหลักฐานทุกอย่าง
หลังเข้ารับการรักษาเป็นที่เรียบร้อย ควรเก็บหลักฐานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ใบรับรองแพทย์ ใบรายงานผลการรักษาตลอดจนตั๋วเครื่องบินทั้งขาไปและขากลับ เพื่อใช้สำหรับการยื่นเคลมประกัน
- ยื่นเคลมประกัน
หลังจากที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ให้นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นเคลมที่บริษัทประกันเพื่อขอรับเงินชดเชย สำหรับเอกสารที่ใช้จะประกอบไปด้วย
- ใบเสร็จรับเงิน (ตัวจริง)
- ใบรับรองแพทย์ ที่ระบุการรักษา, การวินิจฉัยและการรักษา
- แบบฟอร์มการเรียกร้องสินไหมของบริษัทประกัน
- หนังสือเดินทาง พร้อมสำเนา
- ตั๋วโดยสารเครื่องบิน
ในการเคลมหรือเรียกร้องค่าสินไหมของแต่ละบริษัทประกันภัยอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ควรศึกษาวิธีการให้ดีเพื่อที่จะไม่เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เช่น บางบริษัทให้แจ้งผ่าน e-mail , เว็บไซต์หรือแม้แต่ call center ที่แอปพลิเคชัน Line เป็นต้น
หาหมอที่ต่างประเทศ ต้องทำอย่างไรและเอกสารที่ต้องใช้
การหาหมอในต่างประเทศอาจเป็นเรื่องยุ่งยากโดยเฉพาะคนที่ไปต่างประเทศในครั้งแรก เพราะระบบสาธารณะสุขในต่างประเทศจะแตกต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น บางครั้งหากมิใช่เหตุฉุกเฉินจำเป็น ผู้ป่วยจะต้องโทรนัดหมอก่อนทุกครั้งจึงจะเข้าไปรับการรักษาได้ หากจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาจริง ๆ สามารถเตรียมตัวได้ดังนี้
- ค้นหาสถานพยาบาลใกล้เคียง
สามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่โรงแรมหรือใช้แอปพลิเคชันในการค้นหาโรงพยาบาล โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลบางแห่งในต่างประเทศ จะต้องโทรนัดล่วงหน้าเพื่อเข้ารับการรักษา บางแห่งอาจใช้เวลา 1-2 วันจึงจะเข้ารับการรักษาได้ ยกเว้นในกรณีรุนแรง ดังนั้นเมื่อเจอโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ควรโทรสอบถามทุกครั้งก่อนเดินทางไปถึงเวลาทำการของโรงพยาบาล เนื่องจากบางโรงพยาบาลของบางประเทศอาจปิดทำการวันเสาร์ , อาทิตย์ อย่างประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
- เตรียมเอกสารสำคัญ
ในการเข้ารับการรักษาควรเตรียมเอกสารสำคัญซึ่งประกอบไปด้วย
- พาสปอร์ต
- ใบรับรองการฉีดวัคซีน (ถ้ามี)
- ใบรับรองการแพ้ยา (ถ้ามี)
- ใบรับรองว่ามีโรคประจำตัว (ถ้ามี)
- บัตรประกันการเดินทาง
- ใช้บริการล่ามหรือแอปแปลภาษา
หากไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นได้ แนะนำให้ใช้ล่ามหรือแอปพลิเคชันแปลภาษา เพื่อสะดวกในการสื่อสาร
- ตรวจสอบค่าใช้จ่าย
บางประเทศอาจมีค่ารักษาพยาบาลสูง ระหว่างการเข้ารับการรักษาควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายวันต่อวัน พร้อมกับปรึกษากับบริษัทประกัน เพราะในบางครั้งอาจจำเป็นต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลก่อนถึงจะกลับมาเคลมได้
บทความ สุขภาพดีไม่มีขาย แต่ประกันสุขภาพช่วยแบ่งเบาเรื่องสุขภาพได้

สิ่งที่ควรเตรียมก่อนเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงเจ็บป่วย
แม้ในบางครั้งการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุในการเดินทางจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถที่จะลดความเสี่ยงการป่วย การบาดเจ็บระหว่างท่องเที่ยวต่างประเทศได้ด้วยการตรียมตัวให้พร้อม
- ตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง
เพื่อให้มั่นใจว่าคุณมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยก่อนการเดินทางและไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องคอยระวังควรตรวจสุขภาพก่อนการเดินทางทุกครั้ง
- เตรียมยาส่วนตัว
เพื่อลดความเสี่ยงในการหาซื้อยายากในต่างประเทศ แนะนำให้พกยาสำหรับการรักษาเบื้องต้นไปด้วย เช่น ยาแก้ไข้ , ยาแก้ปวด , ยาแก้แพ้ , ยาทาแผลภายนอก และยาประจำตัว
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น
หากต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลหรือในประเทศที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ควรฉีดวัคซีนป้องกันหากจำเป็น
- ทำประกันการเดินทาง
เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความอุ่นใจในการเดินทาง เพราะหากต้องผจญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างน้อยก็จะมีคนคอยช่วยเหลือและดูแลไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน การประสานงานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (หากจำเป็น)
- เตรียมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน
ไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือเดินทางไกล ควรบันทึกเบอร์ฉุกเฉินในโทรศัพท์มือถือและจดบันทึกไว้ในสมุดพก เช่น เบอร์สถานทูตไทย เบอร์บุคคลสำคัญในครอบครัว และเบอร์บริษัทประกันภัยการเดินทาง
การเจ็บป่วยระหว่างท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่การเตรียมตัวให้ดีก่อนออกเดินทางจะช่วยลดความเสี่ยงและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเตรียมยาส่วนตัว การทำประกันการเดินทาง ไปจนถึงการรู้วิธีหาหมอในต่างประเทศ หากคุณเตรียมความพร้อมที่ดีแล้ว การท่องเที่ยวก็จะราบรื่นและปลอดภัยมากขึ้น