ข้าวของแพงควรเลิกทำประกันสุขภาพดีไหม?

หากพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2568 เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนรู้สึกตรงกันคือค่าครองชีพสูงขึ้น ข้าวของก็มีแนวโน้มแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ของบางคนก็เพิ่มขึ้นแบบไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ เหตุที่เป็นแบบนี้เนื่องจากหลายปัจจัยตั้งแต่เศรษฐกิจภายในประเทศไปจนถึงความขัดแย้งระดับโลก วิธีหนึ่งที่หลายคนเลือกใช้เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้คือการตัดทอนรายจ่ายที่คิดว่าไม่จำเป็น ประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่บางคนเลือกที่จะตัดไป โดยเฉพาะคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะมีความเห็นว่าทำแล้วก็ไม่ได้ใช้ .. คำถามที่น่าสนใจคือ ในยุคข้าวของแพง ถ้าร่างกายแข็งแรงดียังควรทำประกันสุขภาพอยู่หรือไม่? และถ้าไม่ทำ จะมีวิธีเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร?

เปรียบเทียบความแตกต่างค่ารักษาแบบมีประกันและไม่มีประกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่างพนักงานประจำคนหนึ่ง อายุ 35 ปี เริ่มทำประกันสุขภาพมาตั้งแต่อายุ 30 ปี โดยในช่วงแรกก็ทำเพราะคิดว่าเป็นการรองรับความเสี่ยง แต่เมื่อผ่านไป 5 ปี ก็ไม่ได้เจ็บป่วยหนัก สวัสดิการจากบริษัทก็มีอยู่ ถึงจะไม่มากแต่ก็ดูแลการเจ็บป่วยพื้นฐานได้ เมื่อถึงปีนี้ที่กำลังจะต้องต่อประกันครั้งใหม่ก็ลังเลว่าจะจ่ายต่อดีไหมเพราะรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ในระหว่างการตัดสินใจ เขาต้องเจอกับความเจ็บป่วยที่ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล และต่อไปนี้คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

• ค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) ค่าห้องอยู่ที่คืนละประมาณ 3,500 บาท หากต้องนอนโรงพยาบาล 10 คืน ถ้าไม่มีประกันสุขภาพ เงินที่ต้องจ่ายคือ 35,000 บาท แต่ในกรณีนี้ยังอยู่ในอายุประกันและ 35,000 บาทนี้คือวงเงินที่ยังใช้ได้ ประกันจะเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

• ค่าพบหมอเป็นรายครั้ง และค่าตรวจในแต่ละคืนที่รักษาแบบ IPD อยู่ที่ประมาณครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งประกันก็รับผิดชอบเช่นกัน เพราะพนักงานรายนี้ทำประกันแบบเหมาจ่ายรายปี

• ค่ายากลับบ้านอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งประกันก็จัดการให้เช่นกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายยิบย่อยอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร , ค่าพยาบาล , ค่าแล็บ ฯลฯ

• รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว หากไม่มีประกันสุขภาพ เงินที่ต้องจ่ายคืออย่างน้อย 60,000 บาท แต่ในกรณีนี้มีประกัน จะมีค่าเบี้ยตกราว 27,000 บาท/ปี เมื่อหักลบกันแล้ว การชำระค่าประกันต่อย่อมคุ้มค่ากว่า เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกทั้งในบางกรมธรรม์ หากไม่มีการเคลม ผู้เอาประกันสามารถได้รับเงินคืนพิเศษได้ด้วย ทั้งนี้ต้องศึกษารายละเอียดแต่ละกรมธรรม์ให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ

บทความ วิธีคิดเรื่องเงิน ไม่ให้คิดมาก

วิธีปรับเปลี่ยนความคุ้มครองประกันสุขภาพให้เหมาะกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

หากรู้สึกว่าประกันสุขภาพยังคงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าข้าวของแพงขึ้นก็ยังไม่ต้องการจะตัดรายจ่ายค่าเบี้ยประกันออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย วิธีที่ทำได้คือการปรับลดความคุ้มครองให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นโดยเทียบกับสวัสดิการพื้นฐานและสวัสดิการซึ่งที่ทำงานจัดให้ หากทำแบบนี้ได้ จะช่วยให้ค่าเบี้ยถูกลง โดยมีอย่างน้อยสองวิธีที่นำไปใช้ได้

1. เทียบรายละเอียดในกรมธรรม์กับสิ่งที่ต้องการจริง 

บางแผนประกันสุขภาพอาจมีความคุ้มครองเกินความจำเป็น เช่น วงเงินค่าห้องพักสูงเกินไป หรือมีความคุ้มครองพิเศษที่คุณไม่ค่อยได้ใช้ ลองปรับลดส่วนเหล่านี้เพื่อให้ค่าเบี้ยลดลง

2. หันมาเลือกทำประกันแบบ Deductible หรือแบบ Co-Payment 

หากเลือกทำประกันแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ซึ่งคุณจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนแรกในทุกกรณี จากนั้นประกันจะเข้ามารับผิดชอบส่วนที่เหลือ หรือแบบร่วมจ่าย (Co-payment) ซึ่งคุณจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราส่วน (เช่น 20% ของค่ารักษาทั้งหมด) อีกทั้งหากมีสวัสดิการที่ทำงาน ก็สามารถใช้ร่วมกับการจ่ายแบบ Co-Payment ได้

วิธีวางแผนเมื่อมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเมื่อไม่มีประกันสุขภาพ

หากตัดสินใจแล้วว่ายอมรับความเสี่ยงด้านสุขภาพได้และไม่ต้องการทำประกันสุขภาพ หนึ่งวิธีที่ทำได้คือการนำเงินที่คิดว่าจะเอาไว้จ่ายค่าเบี้ยเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว พอร์ตการลงทุนที่สร้างขึ้นมาจะกลายเป็นกองทุนฉุกเฉินด้านสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยร้ายแรงก็สามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อจำกัดคือต้องใช้เวลากว่าจะถึงเป้าหมายวงเงินที่ตั้งไว้ ในระหว่างนี้หากเจ็บป่วย สิ่งที่ใช้ได้คือสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยความสะดวกสบายและคุณภาพการรักษาในบางเรื่องที่อาจจะหายไป แต่หากตอนนี้สุขภาพแข็งแรง วิธีนี้ก็น่าสนใจ เพราะหากไม่เจ็บป่วย เงินก้อนนี้จะยังคงอยู่ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมในอนาคต

แม้ว่าข้าวของจะแพงขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงเมื่อเจ็บป่วยร้ายแรง หรือคนที่รู้สึกว่าสวัสดิการขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอกับการดูแลตัวเอง ประกันสุขภาพก็ถือว่าจำเป็น เมื่อรวมเข้ากับความจริงที่ว่าประกันสุขภาพสามารถลดหย่อนภาษีได้ การทำประกันต่อไปถือว่ามีความคุ้มค่าและช่วยคุณจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพได้โดยไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วย

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ