ต่อภาษีรถยนต์ มีขั้นตอนอย่างไร เอกสารที่ใช้มีอะไรบ้าง

ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ เอกสารที่ใช้ต้องมีอะไรบ้าง

ภาษีรถยนต์ พ.ร.บ รถยนต์ ถือเป็นหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในแต่ละปี เพื่อที่รัฐจะได้นำเงินภาษีไปพัฒนาระบบคมนาคมและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อเป็นการที่จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ ควรตรวจเช็ควันเดือนปีที่หมดอายุของป้ายภาษี อย่างสม่ำเสมอ ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

ภาษีรถยนต์ คืออะไร

ภาษีรถยนต์ คือ ภาระผูกพันที่เรียกเก็บจากเจ้าของรถเพื่อนำรายได้ดังกล่าวไปใช้พัฒนาระบบคมนาคมและในกิจการของรัฐ โดยภาษีรถยนต์จะมีวิธีการจัดเก็บที่แตกต่างกันแยกได้ 4 วิธี

1. จัดเก็บตามขนาดของเครื่องยนต์ มีหน่วยเป็น ซีซี

รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง แบ่งระดับการจัดเก็บตาม ซีซี

  • 0 ถึง 600 ซีซี ซีซีละ 0.5 บาท
  • 601 – 1800 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท
  • 1801 ซีซี เป็นต้นไป ซีซีละ 4.00 บาท

โดยรถยนต์ที่มีอายุตั้งแต่ปีที่ 6 ถึง 10 ปี จะได้รับส่วนลดภาษีลง ดังนี้

  • รถอายุเกิน 6 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 10%
  • รถอายุเกิน 7 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 20%
  • รถอายุเกิน 8 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 30%
  • รถอายุเกิน 9 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 40%
  • ปีที่ 10 เป็นต้นไป ได้รับส่วนลดภาษี 50%

2. การจัดเก็บภาษีเป็นรายคัน

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงข้างจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
  • รถพ่วงชนิดอื่น คันละ 100 บาท
  • รถบดถนน คันละ 200 บาท
  • รถแทรกเตอร์เพื่อใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท

3. การจัดเก็บตามน้ำหนักรถ

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  • รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดรถยนต์บริการ
  • รถยนต์รับจ้าง
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล, รถลากจูง, รถแทรกเตอร์ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตร

4. รถยนต์ไฟฟ้า

  • รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง
  • รถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ ให้เรียกเก็บภาษีครึ่งหนึ่งของการเก็บรายคันและตามน้ำหนัก

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์

เจ้าของรถทุกคันสามารถที่จะต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้าได้ 90 วัน หรือ 3 เดือน ก่อนที่จะครบกำหนดชำระภาษี ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

รถยนต์ใหม่ รถป้ายแดง อายุรถไม่เกิน 7 ปี

ไม่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ.เพียงแต่ต้องต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ก่อนจึงจะสามารถไปต่อภาษีรถยนต์ได้

รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี

จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ.พร้อมกับต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ด้วย จึงจะสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้

เอกสารต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง

เอกสารต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการต่อภาษีรถยนต์ ได้แก่

  • ใบยืนยันการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)
    รถจักรยานยนต์ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป และรถยนต์ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป
  • พ.ร.บ.รถยนต์ฉบับใหม่ที่ได้รับการต่อเป็นที่เรียบร้อย
  • สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
  • เงินสำหรับเสียภาษีประจำปีตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้

ต่อภาษีรถยนต์ด้วยตัวเองได้ที่ไหนบ้าง

ต่อภาษีรถยนต์ไปที่ไหน ? ต่อเองได้หรือไม่? หรือให้คนอื่นไปแทนได้หรือเปล่า? นับเป็นคำถามที่มือใหม่หลายคนสงสัยและเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีการพัฒนาและขยายสาขาการให้บริการพี่น้องประชาชนในเรื่องของการต่อภาษีรถยนต์ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเจ้าของรถจะไปเสียภาษีด้วยตนเอง หรือให้คนอื่นไปแทนก็ได้ สถานที่ในการต่อภาษีรถยนต์ มีดังนี้

ต่อภาษีรถยนต์ที่ขนส่ง

สำหรับในยุคแรกๆ ที่จะต้องไปต่อภาษีรถยนต์ ทุกคนจะต้องไปที่สาขากรมขนส่งทางบก ที่ประจำในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ ใครสะดวกที่ไหนไปที่นั้นได้เลย สำหรับเวลาในการให้บริการจะเป็นวันและเวลาราชการเท่านั้น

ต่อภาษีรถยนต์ระบบออนไลน์

ต่อภาษีรถยนต์ระบบออนไลน์

บนเว็บไซต์ของกรมขนส่งทางบกนอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถ ภาษี ใบขับขี่และความรู้อื่นๆ โดยทั่วไปแล้ว ยังเปิดบริการให้เจ้าของรถทุกคนสามารถที่จะตรวจเช็คภาษีรถยนต์ วันหมดอายุ ข้อมูลการค้างชำระภาษีและค่าปรับในระบบออนไลน์ได้

สำหรับรถที่ต้องการจะเสียภาษีรถยนต์ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

  • – เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รย.1) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (รย.2)
  • – รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) และรถจักรยานยนต์ (รย.12) ที่จดทะเบียนทุกจังหวัด
  • – รถ รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปีนับจากวันจดทะเบียนครั้งแรกและรถ รย. 12 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี นับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อนชำระภาษี
  • – รถ รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม หรือที่ไม่ต้องขอรับความเห็นชอบ ก่อนชำระค่าภาษีประจำปี
  • – รถที่ค้างชำระค่าภาษีประจำปี เกิน 1 ปี ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)ก่อนชำระภาษี
  • – ไม่ใช่รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส)
  • – เป็นรถที่มีสถานะทางทะเบียน หรือไม่ถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปี ติดต่อกันครบ 3 ปี
  • – ไม่ใช่รถที่ได้รับการยกเว้นค่าภาษีประจำปี
  • – ชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกเพิ่มเติมได้ที่นี่ TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส โบรกเกอร์ประกันภัย พร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านประกันรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ เราพร้อมดูแลคุณในทุกขั้นตอนเพื่อให้คุณได้บริษัทประกันที่ตรงใจพร้อมแบบประกันภัยที่ตอบโจทย์