เปิดราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ยอดนิยม
ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อผู้ใช้รถกังวลเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง โดยส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยนิยมใช้รถน้ำมันกันมาโดยตลอด รวมไปถึงสถานการณ์ของน้ำมันดิบโลกที่ทำการผลิตน้อยลง ภาวะสงคราม ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น กระทบไปถึงผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ อีกส่วนที่สำคัญคือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันนั้นสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลานาน เป็นเหตุให้มีการหาวิธีในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลลง หนึ่งในทางออกนั้นก็คือการพัฒนาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปยังมอเตอร์ขนาดใหญ่ของรถ
การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยทำให้รถไฟฟ้ามีความเสถียรยิ่งขึ้น ปลอดภัยยิ่งขึ้น การปรับราคารถให้ถูกลงเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค รวมถึงค่าพลังงานน้ำมันที่ทำให้ผู้ใช้รถจำนวนมากหันไปมองหารถยนต์ที่ใช้พลังงานอื่นซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกกว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้คนเริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ในประเทศไทยของเราทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปทางไหนก็มักพบเห็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มท้องถนน มีการสร้างจุดสำหรับชาร์จไฟฟ้าไว้ตามปั๊มน้ำมัน สถานที่ชุมชนต่าง ๆ สร้างความสะดวกในการใช้งานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายิ่งขึ้น
โดยหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้านั้นคือ ‘แบตเตอรี่’ ที่สามารถพัฒนาให้มีความจุที่สูงขึ้น ขับได้ไกลขึ้น มีเทคโนโลยีความปลอดภัยในการใช้งาน … แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีหลายแบบ วันนี้จึงจะพามาทำความรู้จักแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าว่ามีกี่ประเภท รวมไปถึงราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของรถแต่ละยี่ห้อเปรียบเทียบกัน
ประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
แบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์สันดาปอยู่พอสมควร เรามาทำความรู้จักประเภทของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าว่ามีกี่ประเภท
1.แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนนั้นมีการพัฒนากันมาตั้งยุคศตวรรษที่ 90 โดยในอดีตนั้นเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ , อุปกรณ์อิเล็กทรนิกส์ เนื่องจากให้พลังงานที่มีความเสถียร รวมไปถึงสามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้ มีความสามารถในการชาร์จเร็ว (Fast Charge) มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงมีการพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับรถยนต์
แต่แบตแบบลิเธียมไอออนนั้นต้องมีการรักษาอุณหภูมิในการใช้งานให้มีความคงที่ เพราะอุณหภูมิที่สูงเสี่ยงให้เกิดการระเบิดได้ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นติดตั้งระบบหล่อเย็น (Liquid Cooling) ให้อยู่ในสภาพปกติมากับตัวรถด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 20-60 องศาเซลเซียส แบตเตอรี่จึงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ลิเธียมไอออนยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ด้วยประสิทธิภาพของการใช้งาน ทำให้เป็นที่นิยมนำมาเป็นแบตเตอรี่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเต็มระบบมากที่สุด
2.แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด
เป็นแบตเตอรี่ที่มีใช้กันมานานสำหรับรถยนต์แบบสันดาป ภายในแบตเตอรี่จะประกอบไปด้วยแผ่นขั้วบวกและลบที่ผลิตจากตะกั่ว , อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือสารเมื่อละลายในน้ำจะนำไฟฟ้าได้ที่ทำมาจากกรดซัลฟิวริก ซึ่งเมื่อทำการชาร์จกระแสไฟฟ้าจะเกิดการสะสมพลังงานเพื่อนำไปใช้เพื่อใช้การจุดสตาร์ทเครื่องยนต์ จ่ายกระแสไฟให้กับระบบแอร์ ระบบเครื่องเสียง ไฟห้องโดยสาร และระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในรถ
แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรดนั้นยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท คือ แบตเตอรี่ตะกั่วกรดชนิดน้ำ ข้อดีคือมีราคาไม่แพง หาซื้อง่ายแต่ต้องดูแลรักษาด้วยการเติมน้ำกลั่นอย่างสม่ำเสมอ กับแบตเตอรี่ตะกั่วกรดชนิดแห้ง ที่ภายในเป็นแผ่นเจล หรือแผ่นใยแก้วแทนน้ำ ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แต่มีราคาแพงกว่า อายุการใช้งานน้อยกว่า
โดยแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดนั้นถูกนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้เป็นเพียงแบตเตอรี่สำรองเท่านั้น เพราะให้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยเกินไป ใช้เพื่อเป็นตัวจ่ายไฟให้กับระบบซอฟต์แวร์ หรือระบบความบันเทิงในรถยนต์ เป็นเทคโนโลยีเก่าที่ไม่ได้รับความนิยมนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก
3.แบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาทดแทนแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด โดยแบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์นั้นได้รับความนิยมในการนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยคุณสมบัติของอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนและแบตเตอรี่ตะกั่วกรด ทนทานต่อสภาพอากาศได้หลากหลายรูปแบบ
แต่ถึงอย่างนั้นแบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูง และมีคุณสมบัติในการเก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยเมื่อเทียบกับลิเธียมไอออน นอกจากนี้ยังมีการคายประจุพลังงานที่มากกว่า ทำให้แบตหมดเร็วกว่า จึงนิยมนำมาใช้กับรถไฟฟ้าประเภทไฮบริดเพื่อขับเคลื่อนรถในย่านความเร็วต่ำ
4.แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน
เป็นแบตเตอรี่ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อแบตเกลือ มีข้อดีคือชาร์จไฟได้เร็วเพียง 20 นาทีเท่านั้น ทนต่อสภาพอากาศร้อนจัด หรือหนาวจัดได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานโดยชาร์จไฟฟ้าได้ถึง 8,000-10,000 ครั้ง และยังมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนถึง 4 เท่า
แต่แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออนนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของการให้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยกว่าแบตลิเธียมไอออน มีน้ำหนักมากกว่า ทำให้วิ่งได้ระยะทางน้อยกว่าเพราะจำเป็นต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนเยอะกว่าจากน้ำหนักแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ชนิดนี้จึงเหมาะสมกับรถที่ใช้ขับระยะใกล้เท่านั้น
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อ
อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็คือแบตเตอรี่ เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์ หากต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้าขับได้ระยะทางที่ไกลก็ต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุสูงซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดของรถพลังงานไฟฟ้าหนึ่งคัน วันนี้มีข้อมูลราคาแบตเตอรี่รถรุ่นเด่นของยี่ห้อต่าง ๆ มานำเสนอ
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า MG
MG คือผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศอังกฤษที่หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยรถรุ่นเด่นก็คือ MG 4 Electric ราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 525,000 บาท โดยประมาณ ส่วนรุ่น MG EP มีราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 450,000 บาทโดยประมาณ
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า BYD
รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่มีรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่ายหลายรุ่น โดยรุ่นที่ได้รับความนิยม คือ BYD DOLPHIN มีราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 528,700 บาท โดยประมาณ
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ORA
ORA คือแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีน โดยมี ORA GOOD CAT เป็นรุ่นยอดนิยมของยี่ห้อนี้ โดยมีราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 445,000 บาท โดยประมาณ
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า FOMM ONE
FOMM ONE คือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กขนาด 2 ประตู เหมาะสำหรับใช้ขับขี่ในระยะทางใกล้ โดยมีราคาแบตเตอรี่อยู่ที่ 200,000 บาท
ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า NETA
ผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีน โดยรุ่นที่มักพบเห็นได้บนท้องถนนคือ NETA V มีราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 420,000 บาท โดยประมาณ
รถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกคาดหมายว่าจะมาทดแทนรถยนต์สันดาปในอนาคตข้างหน้า ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า จะส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่ในอนาคตลดลง ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งเต็มท้องถนนมาแทนรถยนต์นำมันได้ในระยะเวลาไม่นานต่อจากนี้ ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ