น้ำมันเครื่องรถยนต์มีกี่แบบ เลือกแบบไหนเหมาะกับเครื่องยนต์ที่สุด

สิ่งหนึ่งที่มาควบคู่กับการใช้รถยนต์นั่นคือการดูแลบำรุงรักษาตามระยะทาง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอก เช่น การเปลี่ยนยาง ไปจนถึงเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์อย่างการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง จุดนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะน้ำมันเครื่องเป็นตัวหล่อลื่นการทำงานของเครื่องยนต์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์โดยตรง น้ำมันเครื่องยังมีให้เลือกหลายประเภทอีกด้วย ในวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักน้ำมันเครื่องแต่ละประเภท รวมถึงวิธีเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะกับรถคุณ
ความสำคัญของน้ำมันเครื่อง
ความสำคัญอย่างแรกของน้ำมันเครื่องคือเป็นตัวหล่อลื่นการทำงานของเครื่องยนต์ เพราะในระหว่างการทำงาน เครื่องยนต์จะมีชิ้นส่วนจักรกลต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งถ้าไม่มีน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเครื่องเสื่อมคุณภาพก็จะก่อให้เกิดแรงเสียดทานสูง ส่งผลให้เครื่องยนต์เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อมีน้ำมันเครื่องเป็นตัวหล่อลื่นก็จะช่วยลดแรงเสียดทานและการสึกหรอของชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ได้
อีกหนึ่งความสำคัญคือน้ำมันเครื่องยังช่วยระบายความร้อน โดยหากเครื่องยนต์เกิดความร้อนสูงระหว่างการทำงาน น้ำมันเครื่องจะช่วยดูดซับและถ่ายเทความร้อนออกจากชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ลดโอกาสที่เครื่องยนต์จะร้อนเกินไป นอกจากนี้น้ำมันเครื่องยังมีสารเติมแต่งที่ช่วยป้องกันการเกิดสนิมและการกัดกร่อนของชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องยนต์ รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยชะล้างสิ่งสกปรก , เศษโลหะ และตะกอนที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ช่วยให้เครื่องยนต์สะอาดและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผลในระยะยาวที่เกิดกับเครื่องยนต์ก็คือการยืดอายุการใช้งาน

เลือกอย่างไรให้เหมาะกับรถยนต์
การเลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะกับรถยนต์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของน้ำมันเครื่องซึ่งมีสามประเภท คือ เบนซิน , ดีเซล และไฮบริด รวมถึงการใช้งานรถยนต์ ซึ่งหากไม่แน่ใจว่าควรเลือกแบบไหน ศูนย์บริการที่นำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับคุณได้ แต่หากอยากเลือกได้ด้วยตัวเอง สามารถทำได้โดยการสังเกตตัวเลขและตัวอักษรที่แกลลอนน้ำมันเครื่อง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
• เลือกตามค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง สังเกตได้จากค่ามาตรฐาน SAE (Society of Automotive Engineers) ซึ่งจะมาพร้อมกับตัวเลข เช่น SAE 5W-30 , 10W-40 เป็นต้น โดยตัวเลขหน้า W จะเป็นค่าการคงความข้นใสเอาไว้เมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ และตัวเลขหลัง W คือค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องเมื่ออยู่ในอุณหภูมิสูง (ระหว่างการทำงานของเครื่องยนต์) ยิ่งตัวเลขส่วนนี้สูง ค่าความหนืดก็ยิ่งสูง
• เลือกตามมาตรฐาน API (American Petroleum Institute) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลบนแกลลอนน้ำมันเครื่องเช่นกัน โดยจะเป็นตัวบอกว่าน้ำมันเครื่องที่เลือกใช้มีมาตรฐานสูงแค่ไหนและเหมาะกับเครื่องยนต์ประเภทใด หากเป็นเครื่องยนต์เบนซิน ควรเลือกน้ำมันเครื่องที่มีสัญลักษณ์ API ‘S’ เช่น API SN หรือ API SP ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ควรเลือกน้ำมันเครื่องที่มีสัญลักษณ์ API ‘C’ เช่น API CK-4 หรือ API CJ-4 และสำหรับเครื่องยนต์ไฮบริด นอกจากมาตรฐาน API แล้ว ก็ควรเลือกน้ำมันที่มีค่าความหนืดต่ำ เช่น 0W-20 หรือ 5W-30 ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมัน
บทความ เติมน้ำมันผิดประเภทกับรถ จะเกิดอะไรขึ้น เครื่องยนต์เสียหายมั้ย

ทำความรู้จักน้ำมันเครื่องรถยนต์ 3 ประเภท
1. น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา (Mineral Oil)
จัดเป็นน้ำมันเครื่องที่มีราคาประหยัดที่สุด เกิดจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบโดยไม่มีการผสมสารสังเคราะห์ น้ำมันประเภทนี้มีอายุการใช้งานเพียงประมาณ 5000 กิโลเมตร เหมาะกับรถที่ไม่ได้มีการใช้งานหนักมาก เพราะเป็นประเภทน้ำมันที่ทนต่อความร้อนของเครื่องยนต์ได้ไม่ดีนัก
2. น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic)
เกิดจากการผสมระหว่างน้ำมันจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ จัดเป็นน้ำมันเครื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะราคาอยู่ในระดับปานกลาง อายุการใช้งานก็อยู่ที่ประมาณ 8000 – 10000 กิโลเมตร เหมาะกับรถที่เน้นใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงต้องการน้ำมันเครื่องที่มีประสิทธิภาพ
3. น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic)
เป็นน้ำมันเครื่องที่ราคาสูงกว่าสองประเภทแรก แต่ก็แลกมาด้วยอายุการใช้งานเกิน 10,000 กิโลเมตร ด้วยจุดเด่นที่ทนความร้อนของเครื่องยนต์ได้มากกว่า จึงเหมาะกับรถที่ใช้งานหนักและรถที่เน้นสมรรถนะการขับขี่
ได้รู้แล้วว่าน้ำมันเครื่องแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับรถคุณ สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ห้ามลืมคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทางเพื่อให้การทำงานของเครื่องยนต์เต็มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งาน นอกจากนี้การตรวจสภาพรถก่อนเดินทางไกล , การเลือกประกันรถยนต์ที่เหมาะกับตัวเอง ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจในทุกการขับขี่ ช่วยให้ทั้งคุณและคนที่คุณรักปลอดภัยในทุกเส้นทาง
ตรวจเชคสภาพรถได้ที่ ศูนย์บริการIsuzu