วิธีวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ

วิธีวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ

การศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่ออนาคตที่ดี หรือคนที่เรียนจบแล้วตั้งใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศเพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และได้ connection ที่ดีซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต อย่างไรก็ตามเป้าหมายนี้มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ตั้งแต่ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต การวางแผนการเงินอย่างรอบคอบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง

วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายและงบประมาณสำหรับการเรียนต่อต่างประเทศ

วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายและงบประมาณสำหรับการเรียนต่อต่างประเทศ

โดยจะต้องจำแนกว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง รวมถึงให้สอบถามค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากเว็บไซต์ของบริการนั้น ๆ ก่อนแล้วจึงนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น มีดังนี้

1. ค่าเล่าเรียน

เมื่อรู้แล้วว่าอยากไปเรียนที่ไหน ให้เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่คุณสนใจ ค่าเล่าเรียนอาจแตกต่างกันไปตามประเทศ ระดับการศึกษา และหลักสูตรที่เลือก เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์และการแพทย์มักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าหลักสูตรด้านศิลปศาสตร์

2. ค่าที่พักและการเดินทาง

นอกจากตั๋วเครื่องบินที่จะทำให้คุณเดินทางไปเรียนต่อได้แล้ว ค่าที่พักระหว่างอยู่ต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ให้เปรียบเทียบว่าค่าเดินทางในเมืองนั้นประมาณเท่าไหร่ หากเลือกที่พักไกลจากที่เรียนจะต้องจ่ายเพิ่มมากหรือไม่ หรือหากเลือกที่พักใกล้ที่เรียนหรือหอพักในมหาวิทยาลัย จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่

3. ค่าครองชีพ

หลายประเทศจะมีการประเมินค่าครองชีพขั้นต่ำแบบคร่าว ๆ เอาไว้ให้ ซึ่งจะช่วยให้คุณประเมินได้ว่าตลอดหลักสูตรที่ไปเรียนควรมีเงินสำหรับค่าครองชีพเท่าไหร่ นอกจากนี้คุณยังสามารถหาข้อมูลเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในประเทศเป้าหมายผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์หรือจากนักศึกษาที่เคยเรียนในประเทศนั้นได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ภาพรวมค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

4. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและเงินสำรองฉุกเฉิน

บางประเทศอาจกำหนดให้ผู้ถือวีซ่านักเรียนต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งจุดนี้ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย รวมถึงควรกำหนดว่าจะมีเงินเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินประมาณเท่าไหร่

เมื่อได้ยอดค่าใช้จ่ายรวมแล้ว ก็นำมาคำนวณคิดเป็นเงินไทยว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เราก็จะทราบและเตรียมตัว เตรียมเงินได้อย่างเหมาะสม

การเลือกโปรแกรมการออมที่ช่วยสะสมเงินเพื่อการศึกษา

การเลือกโปรแกรมการออมที่ช่วยสะสมเงินเพื่อการศึกษา

เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ได้แล้ว หากนำมาเทียบกับเงินเก็บที่มีอยู่ก็จะทำให้คุณรู้ว่าต้องเตรียมเงินอีกเท่าไหร่ ฉะนั้นสำหรับเรื่องการวางแผนเรียนต่อต่างประเทศ ยิ่งวางแผนล่วงหน้านานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเวลาเตรียมเก็บเงินมากขึ้นเท่านั้น สำหรับคนที่จะออมเงินเพื่อเรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เก็บเงินเรียนเองหรือพ่อแม่ที่จะออมเงินให้ลูกไปเรียนต่อ ก็มีอย่างน้อย 2 วิธีที่ทำได้

1. เลือกลงทุนกับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว

หากมีเวลาหลายปีในการวางแผน ควรพิจารณาการลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรือบัญชีเงินฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินออม ด้วยวิธีนี้จะเป็นการลงทุนของคุณส่วนหนึ่งและผลตอบแทนรายปีจะช่วยต่อยอดเงินนั้นให้มากขึ้น

2. ลงทุนกับประกันชีวิตที่เน้นออมเพื่อการศึกษา

บริษัทประกันหลายแห่งมีโปรแกรมประกันการศึกษาที่ช่วยสะสมเงินพร้อมความคุ้มครองในกรณีไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ แม้ว่าวิธีนี้จะได้ผลตอบแทนไม่สูงเท่ากับการลงทุนในกองทุน แต่ก็มีข้อได้เปรียบคือมาพร้อมกับความคุ้มครองชีวิต ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ทำประกัน ก็การันตีได้เลยว่ามีเงินก้อนแน่นอน

อย่างไรก็ตามยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ความมุ่งหวังของคุณเป็นไปได้คือการสอบชิงทุน เพราะการรับทุนการศึกษาจากสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก หลายทุนไม่ได้ให้เพียงค่าเล่าเรียนเท่านั้นแต่ยังรวมถึงค่าครองชีพด้วย คนที่คิดเรียนต่อต่างประเทศจึงควรเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เตรียมตัว เตรียมเอกสารให้พร้อม

การจัดการเงินในการใช้จ่ายต่างประเทศและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

ข้อคิดเรื่องการใช้เงินที่สำคัญเมื่ออยู่ต่างประเทศคือ “ต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัว” เพราะหลายประเทศมีค่าครองชีพที่สูงกว่าเมืองไทยมาก หากใช้จ่ายเกินตัวก็ทำให้เจอกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเรียนได้ วิธีจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งทุกวันนี้ก็มีหลายแอพพลิเคชันเข้ามาจัดการเรื่องนี้ให้คุณได้ โดยหากแบ่งรายจ่ายออกเป็นสองประเภท คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น (สิ่งที่ต้องจ่ายแน่นอนเช่น ค่าครองชีพ , ค่าที่พัก , ค่าหนังสือ ฯลฯ) และค่าใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น (เช่น ค่าช็อปปิ้งและความบันเทิงต่าง ๆ ) โดยให้ค่าใช้จ่ายประเภทหลังอยู่ในการควบคุม นั่นคือใช้เพียงแค่นาน ๆ ครั้งหรือเฉพาะในโอกาสที่ทำได้โดยไม่เดือดร้อนเท่านั้น ก็จะช่วยให้จัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่ว่าจะเรียนในไทยหรือต่างประเทศ การวางแผนออมเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ ก็ย่อมต้องใช้เงินมากขึ้น แต่ถ้าสิ่งนี้คือความฝันของคุณ หากวางแผนอย่างเป็นระบบและมีการจัดการที่ดี ทุกสิ่งก็สามารถเป็นจริงได้

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ