Views: 164
อะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง
การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ไว้คือผู้ที่มีเงินได้นั้นสามารถขอลดหย่อนภาษีประจำปีได้ด้วย การวางแผนการเสียภาษีอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้จ่ายภาษีในอัตราที่น้อยลง บทความนี้จะมาแนะนำว่าอะไรที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้บ้าง
1.ลดหย่อนด้วยค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายครอบครัว
- ผู้มีเงินได้ มิสิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท
- ผู้มีเงินได้ที่มีคู่สมรสด้วยการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ใช้สิทธิลดหย่อนของคู่สมรสได้เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท หากคู่สมรสมีรายได้จะยื่นรวมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่โดยรวมแล้วไม่เกิน 120,000 บาท
- ผู้มีเงินได้ที่มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หากบุตรเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยศาลสั่ง สามารถใช้ลดหย่อนได้ตลอดไป
- บุตรบุญธรรมสามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน แต่หากในกรณีที่มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่นำมาลดหย่อนเกิน 3 คน แล้ว ไม่สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้อีก
- ผู้มีเงินได้ที่มีบิดา มารดา อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่มีเงื่อนไขคือหากบิดา มารดามีบุตรหลายคน สามารถให้บุตรนำไปลดหย่อนสำหรับอุปการะได้เพียงคนเดียว
- บิดา มารดาของคู่สมรสสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับบิดา มารดาของตัวเอง
- ผู้มีเงินได้ที่ต้องอุปการะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ โดยต้องอุปการะมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น สามารถนำมาลดหย่อนได้ 60,000 บาท และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะอย่างถูกต้องด้วย
2.ลดหย่อนด้วยกองทุน
การซื้อกองทุนก็สามารถนำมาเป็นสิทธิในการขอลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้
- เงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 30 ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 30 ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นำมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 30 ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
3.ลดหย่อนด้วยการบริจาค
เราสามารถบริจาคเงินเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เงินบริจาคบางประเภทยังสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงถึง 2 เท่า อีกด้วย จำแนกได้ดังนี้
- เงินบริจาคทั่วไป สามารถลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ในปีภาษีนั้นหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- เงินบริจาคที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (ยกเว้นโรงเรียนกวดวิชา) การกีฬา สาธารณะประโยชน์ สถานพยาบาลของรัฐ สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ในปีภาษีนั้นหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
4.ลดหย่อนด้วยประกัน
รู้ไหมว่าการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ นอกจากจะเป็นการบริหารความเสี่ยงแล้ว ยังนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และต้องกรมธรรม์ต้องระบุระยะเวลาการทำประกัน 10 ปี ขึ้นไป
- ประกันสุขภาพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากเรามีทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ทั้งสองประเภทสามารถนำมาลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น โดยมีสัญญาในกรมธรรม์ 10 ปี ขึ้นไป
จากข้อมูลดังกล่าว เราพอที่จะทราบแล้วว่ามีอะไรที่นำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง ซึ่งจะทำให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากการวางแผนภาษีประจำปี นอกจากจะได้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีก เช่น การซื้อกองทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต , การซื้อประกันเพื่อได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ