ซื้อประกันชีวิตต้องระวังอะไรบ้าง
หากกล่าวถึงการทำประกัน เชื่อว่าหลายคนคงต้องการความคุ้มครองและลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต จนบางครั้งอาจหลงลืมข้อมูลสำคัญในเนื้อหาของกรมธรรม์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจทำประกัน โดยเฉพาะความคุ้มครองที่คาดว่าจะได้รับกับข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างที่อาจส่งผลให้การรับประกันเป็นโมฆะหรือสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำประกันแล้ว โดยบทความนี้จะนำเสนอหัวข้อสำคัญที่คุณควรระวังเมื่อซื้อประกันชีวิต
1. การปกปิดข้อมูล
การปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ อาจทำให้การทำประกันสิ้นสุดลง เช่น ประวัติการรักษาโรค , มีโรคประจำตัว , พฤติกรรมการสูบบุหรี่ , การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการปิดบังการประกอบอาชีพในบางอาชีพที่บริษัทประกันไม่รับทำหรือรับทำประกันแต่อาจจะมีการขอเพิ่มเบี้ยประกัน เช่น ตำรวจ , ทหาร เป็นต้น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้หากคุณไม่แจ้งต่อบริษัทประกันทั้งหมด อาจเป็นเหตุทำให้สัญญาประกันชีวิตของคุณเป็นโมฆะได้ หากบริษัทประกันพบว่าคุณปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ บริษัทประกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญาประกันและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้รับผลประโยชน์
ดังนั้นหากคุณต้องการทำประกัน คุณควรเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดอย่างถูกต้องและซื่อสัตย์ หากคุณไม่แน่ใจว่าข้อมูลใดควรแจ้งหรือไม่ ควรปรึกษาตัวแทนประกันหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ซึ่งในขั้นตอนการปรึกษาหารือก่อนที่จะเซ็นสัญญา ควรมีบันทึกข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นหลักฐานว่าคุณแจ้งรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างที่อาจส่งผลต่อการรับประกันให้กับตัวแทนรับทราบแล้ว เพราะเคยมีบางกรณีที่ผู้ทำประกันแจ้งรายละเอียดทุกอย่าง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเคลมผลประโยชน์ตัวแทนอาจปฏิเสธถึงการแจ้งข้อมูลของคุณได้ ทุกสิ่งอย่างในการทำประกันจะต้องได้รับการบันทึกและใช้เป็นข้อมูลในการรับประกันทั้งในส่วนของสุขภาพและประกันชีวิต
2. การฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี
โดยปกติแล้วบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะไม่จ่ายค่าสินไหม หากพบว่าผู้ทำประกันมีเจตนาที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหวังเอาเงินประกัน บริษัทจะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ หากผู้ทำประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี หลังการทำประกัน แต่ถ้าส่งเบี้ยประกันปีที่ 2 กรมธรรม์ก็จะคุ้มครองในทันที เพราะต้องการให้ผู้ทำประกันทบทวนก่อนคิดสั้น ซึ่งข้อนี้มีอยู่ในสัญญาประกันเพื่อป้องกันการทำประกันชีวิตเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม
3. การถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่า
หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการฆ่าเพื่อหวังเงินประกันกันมาบ้างแล้ว ซึ่งในกรณีที่ผู้รับผลประโยชน์เป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรมผู้ถือกรมธรรม์ โดยมีเจตนาเพื่อรับเงินประกัน บริษัทประกันชีวิตจะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นผู้ก่อเหตุ ข้อนี้มีอยู่ในสัญญาประกันเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสม
4. ประกันชีวิตหมดสัญญา
เมื่อประกันชีวิตหมดสัญญา หรือสิ้นสุดการรับประกันและไม่มีการต่ออายุ หรือการขาดส่งเงินค่าเบี้ย ส่งค่าเบี้ยไม่ครบตามที่กำหนดในกรมธรรม์ ผู้ทำประกันจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันนั้นอีกต่อไป เพราะถือว่าสิ้นสุดการรับประกันและหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นในขณะที่ไม่มีความคุ้มครอง ผู้ทำประกันหรือครอบครัวอาจเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงิน เพราะจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ จากการเสียชีวิต
ดังนั้นควรติดตามวันหมดอายุของประกันชีวิตและพิจารณาต่ออายุหรือเปลี่ยนประกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ควรศึกษาเงื่อนไขการคืนเงินหรือสิทธิ์อื่น ๆ เมื่อประกันหมดสัญญา
การซื้อประกันชีวิตเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ซึ่งต้องพิจารณาและระมัดระวังในหลาย ๆ ด้าน ควรอ่านเงื่อนไขการรับประกันอย่างละเอียด หากไม่เข้าใจหรือสงสัยควรถามตัวแทนหรือนายหน้า อย่าเซ็นสัญญาทั้งที่จะมีคำถามในใจและยังคลุมเครือ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเลือกผู้รับผลประโยชน์ ไปจนถึงการจัดการกับประกันชีวิตเมื่อหมดสัญญา หรือไม่สามารถส่งเงินค่าเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนครบสัญญาได้ ผู้ทำประกันควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างละเอียดก่อนซื้อประกันชีวิต จะช่วยให้คุณได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สุดท้ายหากตัดสินใจทำประกันไปแล้ว อย่าลืมที่จะขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้งจากตัวแทน เพื่อป้องกันตนเองจากการโดนตัวแทนโกง แม้จะเป็นตัวแทนที่สนิทสนมกันก็อย่าละเลยในเรื่องการขอใบเสร็จค่าเบี้ยทุกครั้งเพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาในอนาคต ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ