ยื่นภาษีต่างกับจ่ายภาษีอย่างไร

ยื่นภาษีต่างกับจ่ายภาษีอย่างไร

ยื่นภาษีกันหรือยัง? คำถามที่พบบ่อยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี นั่นเพราะถึงเวลาต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่หลักของผู้ที่มีเงินได้จากการประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างก็ตาม ภาษีจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรทำความเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกของวัยทำงาน

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีจากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ตามเกณฑ์กำหนด ซึ่งผู้มีรายได้นั้นจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป

การยื่นภาษี คืออะไร ต่างกับการจ่ายภาษีอย่างไร

การยื่นภาษี คือ การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อแจ้งรายละเอียดเงินได้ และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้กรมสรรพากรทราบ จากนั้นระบบจะนำเอาข้อมูลที่ได้รับไปคำนวณให้ว่าเงินได้สุทธิที่ยื่นมาเกินเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากเกินก็ต้องเสียภาษี ดังนั้นการจ่ายภาษีจึงเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากมีการยื่นภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทุกคนที่มีรายได้ตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีหน้าที่ในการยื่นภาษี แต่ผู้ที่ยื่นภาษีทุกคนไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีหากมีเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถคำนวณได้จาก

การยื่นภาษี คืออะไร ต่างกับการจ่ายภาษีอย่างไร

เงินได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (100,000 บาท) – ค่าลดหย่อนส่วนตัว ( 60,000 บาท ) – ค่าลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม ( 9,000 บาท ) = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

  • หากเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • หากเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องยื่นภาษี และเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นหากมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท ( หรือเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท ) โดยกฎหมายได้กำหนดขอบเขตของรายได้ที่ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี ดังนี้

  • เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
  • เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
  • ในกรณีที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท และไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • ในกรณีที่มีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท และจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษี และเสียภาษี

ยื่นภาษีอย่างไร

ยื่นภาษีอย่างไร

เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นภาษี ได้แก่

  • 1. หนังสือรับรองเงินเดือน ( 50 ทวิ ) จากนายจ้าง ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับการยื่นภาษีที่ระบุ รายได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่าง ๆ
  • 2. เอกสารลดหย่อนภาษี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา และบุตร , จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน ( ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น SSF RMF ) , เบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพ , ดอกเบี้ยบ้าน , ใบเสร็จเงินบริจาค เป็นต้น
  • 3. กรอกแบบฟอร์มใบ ภ.ง.ด. หรือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้
    -แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
    -แบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีรายได้อื่นเสริม

วิธีการยื่นภาษี

  • 1. นำเอกสารที่จัดเตรียมไว้ไปยื่นยังสำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่
  • 2. นำเอกสารที่จัดเตรียมไว้ส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดยื่นให้
  • 3. ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ ของกรมสรรพากร

หมายเหตุ สำหรับการยื่นภาษีแบบใช้เอกสาร สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี สำหรับการยื่นภาษีระบบออนไลน์สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8เมษายน ของทุกปี

จ่ายภาษีอย่างไร

จ่ายภาษีอย่างไร

หากยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วพบว่ามีเงินได้สุทธิเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้ยื่นจะต้องชำระภาษีเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • 1. ชำระด้วยเงินสด หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • 2. ชำระด้วยเช็ค หรือดราฟต์ ให้ขีดคร่อม และสั่งจ่าย ‘กรมสรรพากร’ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • 3. ชำระผ่านทางระบบออนไลน์ ได้แก่
    • จ่ายด้วย QR Code : ผู้เสียภาษีสามารถสแกนจ่ายด้วยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของธนาคาร
    • จ่ายด้วย E-payment : ผู้เสียภาษีจะต้องสมัครใช้บริการ E-payment กับธนาคารที่ร่วมเป็นหน่วยชำระภาษีก่อนจากนั้นระบบจะนำไปสู่หน้าจอของธนาคารดังกล่าวเพื่อดำเนินการจ่ายภาษีต่อไป
    • จ่ายด้วยบัตรเครดิต ( Internet Credit Card)
    • จ่ายด้วย ATM on Internet
    • จ่ายด้วย Pay-in Slip ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร เช่น ATM , Application , Internet Banking , Mobile Banking , Tele Banking , Counter Service และ Tax Smart Card (เฉพาะนิติบุคคล)

การยื่นแบบภาษีและการชำระภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนซึ่งไม่สามารถเพิกเฉย หรือหลบเลี่ยงได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์รวมทั้งข้อปฏิบัติต่าง ๆ จะช่วยให้ ‘ภาษี’ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ