การจัดการการเงินสำหรับคนที่มีรายได้หลายทาง

การจัดการการเงินสำหรับคนที่มีรายได้หลายทาง

การมีรายได้หลายทางเป็นสิ่งดี แต่จะดีกว่ามากหากบุคคลนั้นสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมีรายได้จากหลายทางในเวลาเดียวกัน สภาพคล่องการเงินดี ก็มักเผลอใช้จ่ายตามใจไม่ทันระวัง แต่หากหาเงินได้มากพร้อมกับมีวินัยทางการเงิน นอกจากจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระยะยาวแล้ว ยังจะช่วยสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติมให้บุคคลนั้นได้อีกด้วย

วิธีบริหารรายได้จากแหล่งต่าง ๆ

ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจก่อนว่ารายได้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท และสามารถใช้หลักเกณฑ์ต่าง ๆมาช่วยแบ่งประเภทได้แตกต่างกันออกไปอีก เช่น การใช้หลักเกณฑ์ตามหลักภาษี ได้แก่ เงินค่าจ้าง , รายได้จากการขายสินค้า , รายได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ , รายได้จากการลงทุนในหุ้น และอื่น ๆ หรือจะใช้หลักเกณฑ์สภาพคล่องของรายได้ เช่น การขายอาหารวันต่อวัน ไม่สต็อกสินค้าไว้นาน ถือเป็นรายได้วันต่อวันสภาพคล่องสูง การรับจ้างทำสินค้า การให้บริการลูกค้าระยะเวลา 3, 6, 12 เดือน ซึ่งจะมีสภาพคล่องไม่มากเท่าประเภทแรก ซึ่งหลักเกณฑ์ที่นิยมและใช้ง่ายที่สุด คือ การแบ่งประเภทรายได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.รายได้จากการทำงาน 2.รายได้จากการลงทุน 3.รายได้อื่น ๆ เช่น เงินรางวัลจากสลากกินแบ่ง เป็นต้น

วิธีบริหารรายได้จากแหล่งต่าง ๆ

สาเหตุที่กล่าวถึงเรื่องประเภทของรายได้ก็เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญว่าผู้มีรายได้หลายช่องทาง ควรจัดประเภทของรายได้เพื่อบริหารให้เหมาะสม สำหรับรายได้สภาพคล่องสูงควรแบ่งใช้แบ่งเก็บแบ่งลงทุนตามอัตราส่วนที่เหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่ายที่มี ส่วนรายได้ก้อนโตสภาพคล่องต่ำ ควรแบ่งเก็บแบ่งลงทุนให้มีอัตราส่วนมากเข้าไว้เพื่อสร้างกองเงินสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น

วิธีจัดสรรเงินออมและการลงทุน

วิธีจัดสรรเงินออมและการลงทุน

สำหรับผู้ที่มีเงินสำรองมูลค่าเท่ากับรายจ่ายต่อเดือนเป็นเวลา 6-12 เดือนอยู่แล้ว แนะนำให้แบ่งเงิน 10-20% ออกมาจากรายได้ทุกครั้ง เพื่อเก็บออมส่วนหนึ่ง และลงทุนอีกส่วนหนึ่ง เช่น เรามีเงินเดือน 25,000 บาท ตอนนี้มีเงินสำรองอยู่จำนวน 150,000 บาท (สำรองใช้ได้ 6 เดือน) หลังเงินเดือนออกเราควรหักเก็บไว้ทันที 5,000 บาท โดยแบ่ง 2,500 บาท เข้ากองเงินสำรอง และอีก 2,500 บาท นำไปลงทุนต่อในสิ่งที่เราถนัด อาจเป็นเงินฝากประจำ กองทุนรวม สลากออมทรัพย์ ฯลฯ

สำหรับผู้มีเงินสำรองใช้ไม่ถึง 6 เดือน แนะนำให้แบ่งเงิน 20% จากเงินเดือนทุกเดือน มาเพิ่มมูลค่าเงินสำรองให้ได้ตามเป้าหมาย คือ 6-12 เดือนก่อน เช่น เรามีเงินเดือน 25,000 บาท ตอนนี้มีเงินสำรองอยู่เพียง 50,000 บาท (สำรองใช้ได้ 2 เดือน) หลังเงินเดือนออกเราควรโอนเงิน 5,000 บาท เข้ากองเงินสำรองของเราทันที เมื่อสะสมกองเงินสำรองได้ครบ 150,000 บาท (สำรองใช้ได้ 6 เดือน) จึงค่อยแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน ตามวิธีที่กล่าวไว้ด้านบน

ในส่วนของการลงทุน ควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างการลงทุนที่ให้ประโยชน์เรื่องผลตอบแทน/ดอกเบี้ย/ส่วนต่าง ควบคู่ไปกับการลงทุนที่ให้ผลประโยชน์ด้านภาษีด้วย เพราะเมื่อรายได้สูง อัตราการเสียภาษีก็จะสูงตาม การบริหารด้านภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการออมเงิน และการสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุน เช่น เงินลงทุนต่อเดือน 5,000 บาท แบ่งเข้าบัญชีฝากประจำ 1,000 บาท ซื้อกองทุนรวมแบบได้กำไรจากส่วนต่าง 2,000 บาท และซื้อกองทุนที่ให้ประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษ๊ 2,000 บาท เป็นต้น

วิธีการคำนวณภาษีและการวางแผนภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้หลายช่องทาง

วิธีการคำนวณภาษีและการวางแผนภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้หลายช่องทาง

ก่อนอื่นควรศึกษากฎหมายและข้อมูลเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เข้าใจในระดับหนึ่ง เช่น รอบปีภาษี คือ เดือนมกราคม ถึง เดือนธันวาคมของทุกปี รอบการยื่นแบบภาษี คือ เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีถัดไป ในบางปีทางสรรพกรอาจขยายเวลาให้ยื่นได้ถึง 30 เมษายน แต่เราควรยื่นแบบภาษีภายใน 31 มีนาคม ให้ติดเป็นนิสัยจะดีกว่า

ก่อนจะเข้าเรื่องการคำนวณภาษี เราควรทราบก่อนว่า รายได้ของเราเข้าเกณฑ์รายได้ประเภทใดในแบบภาษี เช่น เรามีเงินเดือนจากงานประจำ , รายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ , รายได้จากการรับจ้างทำงาน เท่ากับเรามีรายได้ในแบบภาษีจำนวน 3 ประเภท ได้แก่

  • รายได้ประเภท 40 (1) เงินเดือนหรือค่าจ้างจากนายจ้าง
  • รายได้ประเภท 40 (2) ค่าตอบแทนจากการรับจ้างทำงาน ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • รายได้ประเภท 40 (8) รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย 60% หรือตามจริง

สำหรับเงินเดือน มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก่อนรับเงินเดือนอยู่แล้ว เราจะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากที่ทำงานเมื่อจบรอบปีภาษี ก็สามารถนำเลขนั้นมากรอกในแบบ ภ.ง.ด. 90 ได้เลย

สำหรับรายได้อีก 2 ประเภทที่เหลือ เราควรเก็บใบหักภาษีจากการจ้างงาน และใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ทุกรอบปีภาษีเพื่อนำมาใช้หักค่าใช้จ่าย และแม้ว่าวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ที่สรรพากรกำหนด คือ

  • เงินได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
  • เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

แต่วิธีการคำนวณที่ง่ายและสะดวกกว่า คือ การเข้าเว็บไซต์ของทางสรรพากร แล้วทดลองกรอกแบบ ภ.ง.ด. 90 ตามตัวเลขที่คาดการณ์ โดยไม่ลืมกรอกค่าลดหย่อนต่าง ๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว , ค่าลดหย่อนบิดา/มารดา/บุตร , เงินบริจาค , เบี้ยประกันชีวิต , เบี้ยประกันสุขภาพ , ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าหากมีการบริหารจัดการเงินที่ดี ผู้มีรายได้หลายช่องทางก็จะได้ประโยชน์ทั้งจากการเก็บออม การลงทุน รวมถึงประโยชน์ด้านภาษี หากไม่มีความรู้เรื่องภาษีเลย อาจทำให้เกิดค่าปรับเมื่อยื่นภาษีล่าช้า หรือเสียประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายหรือตามจริง ดังนั้นจึงควรศึกษาเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งมั่นคงทางการเงินตั้งแต่วันนี้

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ