การวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมีหลักการอย่างไรบ้าง

การวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมีหลักการอย่างไรบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงิน‘ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า “เงินและอนาคต” ต่างเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ทว่าเราทุกคนสามารถเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตที่มั่นคงได้ด้วยการวางแผนทางการเงินที่ดี

การวางแผนทางการเงิน คืออะไร

การวางแผนทางการเงินเป็นกระบวนการจัดทำแผนบริหารด้านการเงินส่วนบุคคลเพื่อช่วยให้รู้จักสภาพการเงินของตน ผ่านการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน แนวทางการใช้จ่าย และแนวทางการลงทุน ซึ่งหากได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมแล้วจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินรวมถึงเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ได้ ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจึงถือเป็นตัวกำหนดทิศทาง และวิธีการตัดสินใจด้านการเงินนั่นเอง

การวางแผนทางการเงินจึงมีประโยชน์

  • 1. ช่วยให้เป้าหมายทางการเงินชัดเจนขึ้น
  • 2. ช่วยให้สถานะทางการเงิน และอนาคตมั่นคงขึ้น
  • 3. ช่วยให้การใช้เงินเกิดประโยชน์มากขึ้น

การวางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องยาก และจะมีประสิทธิภาพมาก หากอาศัยหลักการดังต่อไปนี้

กำหนดวัตถุประสงค์

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดทุกคนสามารถวางแผนทางการเงินได้ โดยเริ่มต้นจากกำหนดวัตถุประสงค์ และกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าต้องการวางแผนทางการเงินเพื่อเป้าหมายใด ใช้ระยะเวลาเท่าไร เช่น ต้องการซื้อบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า , ทุนการศึกษาของบุตรจนเรียนจบ , ต้องการเงินทุนเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ , การใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวางแผนทางการเงินที่ดี ควรมีลักษณะ

  • มีความจำเพาะเจาะจง และชัดเจนในเป้าหมาย
  • สามารถวัดผลได้
  • สามารถทำได้ หรือมีแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้
  • อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
  • มีกรอบเวลาที่แน่ชัด โดยอาจแบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น , ระยะกลาง และระยะยาว

การวางแผนทางการเงินที่ถูกกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจนจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนั้น

เริ่มออมทีละน้อย

เริ่มออมทีละน้อย

สร้างวินัยทางการเงินให้กับตนเองด้วยการเริ่มต้นออมทีละน้อย โดยอาจจะตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ สำหรับการออมก่อน เช่น ออมเงินเพื่อซื้อของที่ต้องการ , ออมเงินเพื่อท่องเที่ยว , ออมเงินเพื่อปิดหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น จากนั้นจึงค่อยวางเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นตามระยะเวลาเพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนและปฏิบัติ เช่น จากออมเงินระยะเริ่มต้นเพื่อซื้อของที่ต้องการ ขยับมาสู่การออมเงินระยะสั้นเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ , ออมเงินระยะกลางเพื่อเป้าหมายเป็นที่อยู่อาศัย และออมเงินระยะยาวเพื่อเป้าหมายการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการออมอย่างชัดเจนจะช่วยให้มีวินัยและบรรลุถึงเป้าหมายการออมได้ง่ายขึ้น เช่น วางแผนเก็บเงินออม 10% ,20% หรือ 30% ของรายรับ เมื่อมีรายรับเข้ามาก็ให้เก็บเงินออมตามที่กำหนดไว้ก่อนจากนั้นจึงค่อยนำไปใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ วิธีนี้จะช่วยลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและป้องกันการใช้เงินเกินความจำเป็นได้ดี

ทำรายรับ-รายจ่าย

ทำรายรับ-รายจ่าย

บัญชีรายรับ-รายจ่าย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนสถานะทางการเงินได้เป็นอย่างดี ทำให้ทราบที่มาที่ไป และเงินคงเหลือที่มีอยู่ ทั้งยังช่วยปรับพฤติกรรมการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากข้อมูลที่บันทึกไว้นั้นสามารถนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลการใช้เงินของเราได้ว่าควรเพิ่มการเก็บออม หรือลดการใช้จ่ายส่วนใด

สำหรับวิธีการบันทึกรายรับ-รายจ่ายเลือกได้ตามถนัด เช่น สมุดบันทึกบัญชีครัวเรือน , โปรแกรม Excel, Google Sheets หรือจะเป็นแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็ได้ โดยข้อมูลที่บันทึกนั้นควรประกอบไปด้วย รายรับ รายจ่าย เงินเก็บ และเงินออม ซึ่งเงินออมนี้อาจอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ เช่น เงินฝากประจำ , กองทุนรวม , หุ้น หรือพันธบัตร เป็นต้น

วางแผนลงทุนตามความเสี่ยงที่รับไหว

วางแผนลงทุนตามความเสี่ยงที่รับไหว

การลงทุนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับการวางแผนทางการเงินทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สินทรัพย์งอกเงย และบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างรวดเร็ว โดยควรเลือกการลงทุนที่เหมาะสม ให้ผลตอบ แทนดี สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ และมีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เงินฝาก , กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ เป็นต้น
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล , กองทุนรวมตลาดเงิน , กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล , กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ได้แก่ หุ้นกู้ , กองทุนรวมผสม เป็นต้น
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หุ้น , กองทุนรวมหุ้น , กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ ทองคำ , สัญญาซื้อขายล่วงหน้า , กองทุนรวมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก ( เช่น ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ , ทองคำ , น้ำมันดิบ ) เป็นต้น

***ต้องยอมรับว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกันดังนั้นจึงควรศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับไหว

การวางแผนทางการเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคตไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่ทุกคนจะทำได้ สิ่งสำคัญคือการลงมือทำและความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ อย่าลืมว่าไม่มีใครกำหนดอนาคตของเราได้นอกจากตัวของเราเอง ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ