เทคนิคเปลี่ยนเป้าหมายการเงินให้เป็นจริงด้วยการสร้างวินัยทางการเงิน

เทคนิคเปลี่ยนเป้าหมายการเงินให้เป็นจริงด้วยการสร้างวินัยทางการเงิน

เราเชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายทางการเงินคือความฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการปลดหนี้ การออมเงินเพื่อซื้อบ้าน หรือแม้แต่การเกษียณอายุอย่างมั่นคง หลายคนที่มีเป้าหมายเช่นนี้รู้สึกตรงกันว่าการจะไปถึงเป้าหมายได้นั้นเป็นเรื่องยากมากเพราะรายได้ไม่เพียงพอ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้เพียงอย่างเดียว … วินัยทางการเงินก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ข่าวดีก็คือวินัยทางการเงินคือสิ่งที่เริ่มสร้างได้ ไม่ว่าในตอนนี้คุณจะรู้สึกว่ารายได้เพียงพอหรือไม่ก็ตาม .. ในวันนี้เราจะนำเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายมาให้คุณในแบบที่เริ่มทำจริงได้ทันที

เทคนิคในการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการออม

เทคนิคในการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการออม

1. เริ่มด้วยการมีเป้าหมาย

เป้าหมายในการออม แบ่งได้ง่าย ๆ เป็นสามระยะ โดยเป้าหมายระยะสั้น (0-2 ปี) จะเหมาะกับการเก็บเงินซื้อของที่มีราคาแพง , เป้าหมายระยะกลาง (2-10 ปี) เหมาะกับการเก็บเงินดาวน์บ้าน หรือลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ , เป้าหมายระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) จะเหมาะกับการลงทุนเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ

จุดเริ่มต้นคือคุณต้องมีเป้าหมายทางการเงิน โดยอาจเริ่มด้วยความคิดที่ว่า “ปีนี้เราจะเก็บเงินให้ได้ … บาท เพื่อนำเงินไปทำ …” และเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการประเมินเป้าหมายเป็นระยะว่าเราทำไปได้แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายที่ตั้งไว้รวมถึงการประเมินเป็นระยะจะเป็นตัวกำหนดในขั้นแรกให้คุณต้องเริ่มออมเงิน

2. แบ่งเงินเพื่อการออมทันที

นี่คือเทคนิคที่เรียกว่า “จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน” มาจากความคิดที่ว่าเมื่อได้เงินเดือนมา เราต้องเป็นคนที่ได้เงินนั้นก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเคลียร์ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ซึ่งเท่ากับการจ่ายเงินให้คนอื่น) โดยอาจแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน (เช่น ออม 10% ของเงินเดือน) หรือใครที่มีรายได้มากกว่าหนึ่งทางอาจกำหนดว่ารายได้เสริมคือเงินที่จะต้องเก็บและใช้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น

3. มองหาตัวช่วยเพื่อเสริมวินัยทางการเงิน

บางคนอาจรู้สึกว่าต่อให้ทำตามข้อ 2 แล้วก็ยังเก็บเงินไม่อยู่ เพราะมักจะมีเหตุให้นำเงินนั้นออกมาใช้ ซึ่งบางเรื่องหากมองดี ๆ แล้วก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นก็ได้ วิธีที่ทำได้คือเปิดบัญชีฝากประจำแบบมีระยะเวลาการออม (เช่น บัญชีฝากประจำ 12 เดือน) บัญชีประเภทนี้มักมีดอกเบี้ยสูง และการจะได้ดอกเบี้ยก็คือออมเงินครบตามระยะเวลาโดยห้ามถอนเงินออกมา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้คุณรักษาวินัยทางการเงินมากขึ้น

การตั้งเป้าหมายและการติดตามความคืบหน้าทางการเงิน

การตั้งเป้าหมายและการติดตามความคืบหน้าทางการเงิน

ขั้นแรก ให้คุณกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ เช่น “ออมเงิน 60,000 บาท ภายใน 12 เดือน” จากนั้นให้ดูว่าเงินที่ออมได้นั้นจัดอยู่ในเป้าหมายระยะใด (ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว) คำตอบที่ได้จะช่วยให้คุณจัดลำดับความสำคัญได้ว่าเงินออมแบบไหนควรมาเป็นอันดับแรก (ตามความจำเป็นของแต่ละช่วงวัย)

ต่อมา เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ต้องมีการประเมินตัวเองในระหว่างที่จะบรรลุเป้าหมายด้วย เช่น เมื่อผ่านไป 3 เดือน ก็ให้ประเมินว่าตอนนี้เรายังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ จากเป้าหมายในตัวอย่าง หากคุณออมเงินได้ 15,000 บาท ก็ถือว่าเป็นไปตามเป้า หรือหากออมได้น้อยกว่าเป้า ก็ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงดีในเดือนต่อ ๆ ไปและตอบตัวเองให้ได้ว่าที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะอะไร และหากท้ายที่สุดทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ก็อาจมอบรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตัวเองเพื่อเสริมความมั่นใจและเป็นแรงผลักดันสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นในปีต่อไป

สุดท้ายคือเป้าหมายต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอน หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ลดลงหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การเจ็บป่วย หรือภาวะเศรษฐกิจ ควรปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น แต่การปรับลดเป้าหมายควรทำเมื่อจำเป็นจริง ๆ และเหตุฉุกเฉินเท่านั้น

วิธีการจัดการรายจ่ายและการหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว

วิธีการจัดการรายจ่ายและการหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว

หากไม่อยากใช้จ่ายเกินตัว เริ่มได้ด้วยวิธีจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนผ่านการทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น เป็นส่วนที่ต้องจ่ายแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน , ค่าน้ำ , ค่าไฟ ฯลฯ และอีกส่วนคือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น รองเท้าคู่ใหม่ทั้งๆที่คู่เก่าก็ยังใส่ได้ดีอยู่ เป็นต้น ในเดือนแรก ๆ คุณอาจรู้สึกว่าความสุขในชีวิตบางอย่างหายไป แต่หากทำจนเป็นความเคยชิน และทำได้โดยตัวเองไม่เดือดร้อน ปัญหาใช้จ่ายเกินตัวก็จะเบาบางลงไปได้และจะส่งผลต่อนิสัยการใช้เงินไปได้ตลอด

หลายคนเจอปัญหาเก็บเงินไม่อยู่ ในตอนแรกอาจรู้สึกว่าเป็นเพราะรายได้ไม่พอกับการใช้จ่าย แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ บางคนอาจรู้แล้วว่าเป็นเพราะเราใช้จ่ายกับเรื่องที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ซึ่งหากเริ่มด้วยการมีวินัยทางการเงิน ตั้งเป้าหมายการออม และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ผ่านไปหนึ่งปีคุณจะเริ่มมีเงินมากขึ้นอย่างชัดเจน

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ