วิธีวางแผนการเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน

การเก็บออมเงินเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของมนุษย์เงินเดือน หลายคนอาจจะรู้สึกท้อกับเป้าหมายทางการเงินที่ยังไปไม่ถึงไหน เหนื่อยกับการจัดสรรเงินเดือนให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ละเลยการสร้างวินัยในการออมเพราะรู้สึกว่าตนเองเก็บเงินไม่เก่ง .. อันที่จริงแล้วการเก็บออมเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้นง่ายกว่าที่คิดเนื่องจากมีรายรับคงที่ซึ่งช่วยให้สะดวกต่อการวางแผนด้านการเงิน และเชื่อหรือไม่ว่าแม้จะเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาก็สามารถมีเงินเก็บหลักแสนหลักล้านได้หากรู้จักการวางแผนทางการเงินที่ดี

วิธีวางแผนการเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน

คำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือน

คำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือน

เมื่อมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนแล้ว ลองมาคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร , ค่าน้ำ , ค่าไฟ , ค่าเดินทาง , ค่าของใช้ส่วนตัว เป็นต้น จากนั้นจึงนำค่าใช้จ่ายรายเดือนนี้มาหักลบกับเงินเดือน โดยยอดเงินคงเหลือที่ได้คือสิ่งที่ต้องวางแผนต่อว่าจะใช้จ่ายหรือเก็บเท่าไร การคำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือนนี้จะช่วยให้เราสามารถวางแผนได้ว่าเดือนถัดไปควรจะใช้เงินเท่าไรจึงจะมีเหลือเก็บ

อย่างไรก็ตามมีสูตรบริหารการเงินที่นิยมใช้เพื่อแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน นั่นคือ สูตร 50-30-20 โดย

  • เงินก้อนแรก 50% เป็นเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการดำรงชีวิต
  • เงินก้อนที่สอง 30% เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขหรือให้รางวัลตัวเอง เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน , การท่องเที่ยว , ชมคอนเสิร์ต , ชมภาพยนตร์ , ช็อปปิ้ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายจิปาถะเล็กน้อย เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปตามงบประมาณที่วางเอาไว้จึงควรใช้เงินก้อนนี้อย่างรอบคอบ เช่น ตั้งเป้าหมายว่ารับประทานอาหารนอกบ้านไม่เกินเดือนละ 1-2 ครั้ง , ชมภาพยนตร์เดือนละครั้ง เป็นต้น
  • เงินก้อนที่สาม 20% เป็นเงินสำหรับการเก็บออมโดยสามารถแบ่งการออมเป็นกลุ่มย่อยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น 5% สำหรับเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน , 5% สำหรับการซื้อบ้าน และ 10% สำหรับชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น

ทั้งนี้การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนตามข้างต้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของอายุ , รายได้ , รายจ่าย , ภาระหนี้สิน และเป้าหมายทางการเงิน เช่น เพิ่งเริ่มต้นทำงานยังมีรายได้น้อย อาจจะวางแผนเก็บออมเงินเพียง 10-15% ของเงินเดือน หรือเมื่ออายุมากขึ้นในวัยก่อนเกษียณอาจปรับสูตรให้มีเงินเก็บเพิ่มเป็น 45-25-30 ก็ได้

วางแผนค่าใช้จ่ายประจำวัน

การวางแผน หรือกำหนดเงินใช้จ่ายเป็นรายวัน จะช่วยบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายขึ้นทั้งค่าใช้จ่ายและเงินเก็บ เหมือนตอนเป็นเด็กที่ได้ค่าขนมไปโรงเรียนมีเท่าไรก็ใช้เท่านั้น วิธีนี้จะช่วยสร้างวินัยในการออมแต่ก็ต้องใจแข็งพอที่จะไม่นำเงินในอนาคตมาใช้ สิ่งที่ต้องทำคือคำนวณค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดในแต่ละวันอย่างรอบคอบ เช่น ค่าอาหาร , ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ จากนั้นนำค่าใช้จ่ายต่อวันมาคูณด้วยจำนวนวันแล้วบวกกับค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นต่อเดือน เมื่อนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาลบกับเงินเดือนก็จะได้เป็นผลลัพธ์ของยอดเงินเก็บที่สามารถออมได้โดยไม่เดือดร้อน

ซื้อของฟุ่มเฟือยเพียงเดือนละ1ครั้ง

ซื้อของฟุ่มเฟือยเพียงเดือนละ1ครั้ง

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราเก็บเงินไม่อยู่นั่นคือการช็อปปิ้ง ยิ่งเป็นการช็อปปิ้งออนไลน์ที่แสนจะสะดวกสบายก็ยิ่งเพลิดเพลินกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแบบไม่รู้ตัว หากต้องการมีเงินเก็บลองเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อปทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น

  • – ทุกครั้งที่จะหยิบเงินสด บัตรเครดิต หรือกดโอนเพื่อชำระค่าสินค้า ให้นึกถึงความจำเป็นในการใช้งานจริงก่อนจ่ายเงินซื้อเพราะของบางอย่างอาจมีอยู่แล้ว หรือซื้อไปก็ไม่ได้ใช้
  • – เปลี่ยนความคิดจาก “ของมันต้องมี” เป็น “ของมันต้องใช้” ควรเลือกซื้อจากความจำเป็นต้องใช้มากกว่าความชอบส่วนตัว และอย่าลืมคิดถึงเป้าหมายในการเก็บเงินทุกครั้งเมื่อจะใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
  • – เลี่ยงพฤติกรรมการออกไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าเพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบนี้ดูดเงินออกจากกระเป๋าได้ดีเพียงแค่เห็นป้ายลดราคา หรือสิ่งที่ถูกตาถูกใจ ควรไปเดินห้างสรรพสินค้าเฉพาะเวลาจำเป็น และอย่าลืมลิสต์รายการที่ต้องซื้อไปด้วยเพื่อจะได้กำหนดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน

แม้จะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อปปิ้ง แต่เราก็สามารถให้รางวัลชีวิตหรือเติมความสุขให้แก่ตัวเองได้ด้วยการอนุญาตให้ตนเองซื้อของฟุ่มเฟือยได้เดือนละ 1 ครั้ง เช่น เดือนนี้ซื้อรองเท้า , เดือนถัดไปซื้อกระเป๋า วิธีนี้จะช่วยให้การเก็บเงินไม่ตึงเครียดจนเกินไปนัก

ชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือน

ต้องยอมรับว่าบัตรเครดิตช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรามีหนี้โดยไม่จำเป็นหากยังคงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้นก่อนใช้บัตรเครดิตทุกครั้งให้นึกถึงความคุ้มค่า รูดใช้บัตรเครดิตในจำนวนเงินที่สามารถจ่ายได้ และไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพราะอย่าลืมว่าการใช้บัตรเครดิตก็เหมือนกับการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาใช้ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ย และ/หรือต้องจ่ายค่าปรับหากยอดเงินชำระคืนไม่พอ / จ่ายคืนเงินไม่ตรงเวลา หรือจ่ายคืนเพียงขั้นต่ำ

เนื่องจากการจ่ายหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปิดยอดได้หมดระหว่างนี้ดอกเบี้ยก็พอกพูนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตสามารถคิดดอกเบี้ยจากการใช้สินเชื่อบัตรเครดิตได้สูงสุด 16% ต่อปี และคิดดอกเบี้ย / ค่าปรับ / ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลได้สูงสุด 25% ต่อปี จะเห็นได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นก่อนใช้บัตรเครดิตพึงระลึกไว้เสมอว่าสามารถชำระบัตรเครดิตได้เต็มจำนวน หรือเลือกใช้กรณีที่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% เท่านั้น เพราะนอกจากไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้วยังเป็นการกระจายค่าใช้จ่ายต่อเดือนด้วย

ทำรายรับ-รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น จากที่เคยสงสัยว่าเงินเดือนหายไปไหนหมดก็จะได้รับคำตอบว่าเงินรั่วไหลหายไปไหนบ้าง ทั้งยังสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้ง่ายทำให้เหลือเงินเก็บออมมากขึ้น ทั้งนี้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในปัจจุบันค่อนข้างสะดวก เพราะนอกจากจะบันทึกลงสมุดแล้วยังสามารถเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ในการช่วยบันทึกรายรับรายจ่ายได้

เก็บเงินในบัญชีฝากประจำทุกเดือน หรือฝากในรูปแบบของการประกันสะสมทรัพย์

เก็บเงินในบัญชีฝากประจำทุกเดือน หรือฝากในรูปแบบของการประกันสะสมทรัพย์

บัญชีเงินฝากประจำเป็นเครื่องมือการเก็บออมเงินพร้อมสร้างวินัยในการออมที่ดีเนื่องจากไม่สามารถถอนออกมาใช้จ่ายได้จนกว่าจะครบสัญญา และห้ามขาดการนำฝากเกินจำนวนครั้งที่ธนาคารกำหนด มิฉะนั้นจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากอัตราพิเศษรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของธนาคาร โดยบัญชีเงินฝากประจำนั้นมีให้เลือกตั้งแต่ระยะเวลา 12 เดือนจนถึง 48 เดือน นอกจากเก็บเงินในบัญชีฝากประจำแล้วประกันสะสมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่อยู่ในรูปแบบของการเก็บออมเงิน

จึงได้รับทั้งการคุ้มครองและเป็นการสะสมเงินออมในระยะยาว โดยผู้ทำประกันต้องชำระค่าเบี้ยประกันเป็นงวด ๆ ให้กับบริษัทประกันจนกว่าจะครบตามสัญญา จากนั้นบริษัทประกันจะจ่ายทุนประกันคืนพร้อมดอกเบี้ยซึ่งผู้ทำประกันสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นก้อนเดียวเมื่อครบสัญญาหรือรับเป็นเงินปันผลระหว่างทางก็ได้ ทั้งนี้หากผู้ทำประกันเสียชีวิต ทายาทจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีได้ การทำประกันสะสมทรัพย์ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพราะเงินที่ลงทุนสำหรับการออมในแต่ละงวดนั้นจะงอกเงยเป็นเงินก้อนใหญ่ และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหากเรามีวินัยทางการเงินที่ดี

แม้เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนธรรมดาแต่หากรู้จักวิธีวางแผนทางการเงินที่ดี มีการจัดสรรเงินอย่างเป็นสัดส่วนลงตัวก็จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขและเกิดความมั่นคงในอนาคตได้เช่นกัน ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ