วิธีต่อประกันสุขภาพไม่ให้ค่าเบี้ยแพงขึ้น

ในยุคที่ค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างในชีวิตประจำวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเป็นค่าครองชีพทั่วไป เช่น ค่าสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน , ค่าอาหารต่างแพงขึ้น ก็พอหาทางจัดการให้ผ่านไปได้ แต่หากเป็นค่ารักษาพยาบาล การหาทางออกจะยิ่งยากขึ้น เพราะเมื่อเจ็บป่วย หากไม่มีเงินสำรองไว้หรือสวัสดิการที่มีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ภาระทางการเงินก็ย่อมเกิดขึ้น การหารายได้เสริมก็เป็นสิ่งที่ยังทำไม่ได้เพราะร่างกายไม่พร้อม ปัญหาทั้งหมดนี้จะหมดไปเมื่อคุณมีประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตามประกันสุขภาพจะต้องต่อทุกปี แล้วจะทำยังไงให้การต่อประกันไม่กลายเป็นภาระค่าใช้จ่าย ? คำตอบอยู่ที่ 5 เทคนิคต่อไปนี้!

1. เลือกแผนประกันที่มีค่าเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา

หลายคนคงเคยได้ยินว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประกันสุขภาพต่างจากประกันทั่ว ๆ ไปคือค่าเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น เพราะหมายความว่าคุณต้องมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยมากขึ้น แต่การมองหาประกันที่ค่าเบี้ยไม่เพิ่มขึ้นระหว่างอายุสัญญาก็เป็นสิ่งที่ทำได้ โดยเฉพาะถ้าคุณเลือกต่อประกันกับบริษัทเดิมตลอดโดยไม่มีประวัติเจ็บป่วยร้ายแรง บริษัทเดิมย่อมต้องการรักษาลูกค้าลักษณะนี้เอาไว้ หรือหากพบว่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นก็อาจมองหาแผนประกันที่ค่าเบี้ยถูกลงจากบริษัทอื่นได้ เพราะทุกวันนี้ประกันสุขภาพมีให้เลือกมากมายหลายบริษัท ซึ่งต่างก็แข่งขันกันมอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า

2. อย่าขาดต่อประกัน 

เมื่อเริ่มทำประกันสุขภาพในปีแรกแล้ว ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยให้ประกันขาดความคุ้มครองไปแล้วกลับมาทำใหม่ ก็อาจทำให้รักษาค่าเบี้ยแบบเดิมไว้ไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีที่ขาดต่อประกันไปหลายปี ซึ่งก็จะย้อนกลับไปที่ข้อแรกคือถ้าทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง และใช้ประกันสุขภาพเป็นเครื่องมือรองรับความเสี่ยง โอกาสที่ค่าเบี้ยจะไม่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้มาก

3. ปรับลดความคุ้มครองให้เหมาะกับความจำเป็น

ประกันสุขภาพมีให้เลือกหลายแบบไม่ว่าจะเป็นประกันที่เน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ประกันที่เน้นรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ประกันที่เน้นคุ้มครองกลุ่มโรคร้ายแรง ประกันแบบมีค่าชดเชยกรณีขาดรายได้เมื่อต้องนอนโรงพยาบาล ฯลฯ ความจริงหนึ่งที่ทุกคนรู้คือ ยิ่งความคุ้มครองมากขึ้น ค่าเบี้ยก็ยิ่งสูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วก็จะพบว่าความคุ้มครองบางอย่างอาจไม่จำเป็นกับเราเสมอไป อย่างเช่นสถานการณ์ต่อไปนี้

• พนักงานบริษัทคนหนึ่งได้รับสวัสดิการประกันกลุ่มจากที่ทำงาน โดยมีสองส่วนคือวงเงินค่ารักษาพยาบาลแบบ OPD และค่ารักษาแบบ IPD

• เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าค่ารักษาแบบ IPD ที่ได้ยังไม่เพียงพอ จึงมองหาประกันที่เน้นคุ้มครอง IPD

• จากนั้นพบว่า IPD มีทั้งแบบปกติและชดเชยกรณีขาดรายได้ เมื่อพิจารณาความจริงที่ว่าบริษัทให้ลาป่วยได้ปีละ 30 วัน โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ จึงเท่ากับว่าค่าชดเชยกรณีขาดรายได้ก็อาจไม่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยร้ายแรง 

• ท้ายสุดจึงเลือกประกัน IPD ที่ไม่คุ้มครองกรณีขาดรายได้ และตัดความคุ้มครอง OPD ออกไป ซึ่งก็ช่วยประหยัดค่าเบี้ยได้มาก

4. เลือกประกันสุขภาพแบบมี Deductible หรือร่วมจ่าย (Co-pay) 

เทคนิคนี้จะเหมาะกับคนที่มีสวัสดิการประกันสุขภาพอยู่แล้ว (เช่น ประกันสุขภาพกลุ่มของบริษัท) แต่ก็ยังอยากมองหาความคุ้มครองเพิ่มเติมเพราะรู้สึกว่าวงเงินที่ได้รับยังไม่เพียงพอ ซึ่งก็มีประกันสองประเภทที่ตอบโจทย์คนที่คิดแบบนี้คือประกันแบบร่วมจ่าย (Co-payment) และประกันแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ความเหมือนกันของประกันสองประเภทนี้คือช่วยให้จ่ายค่าเบี้ยถูกลง คนที่เคยทำประกันแบบเหมาจ่ายเต็มจำนวน หากเปลี่ยนมาต่อประกันสองประเภทนี้ก็จะรู้สึกได้เลยว่าค่าเบี้ยถูกลงเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ และอีกเรื่องที่เหมือนกันคือเราในฐานะผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้คือความต่างของประกันทั้งสองประเภทแบบเข้าใจง่าย 

• ประกันแบบร่วมจ่าย (Co-payment) คือประกันที่กำหนดสัดส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเอาไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม เช่น หากค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท ทำประกันแบบ Co-payment 20% เท่ากับว่าคุณจะต้องจ่าย 4,000 บาท ส่วนที่เหลือบริษัทประกันจะรับผิดชอบตามวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

• ส่วนประกันแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductible) จะกำหนดไว้ว่าคุณต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนแรกจำนวนเท่าไหร่ แล้วส่วนที่เหลือประกันจะจัดการให้ ในกรณีนี้หากทำประกันแบบส่วนรับผิดชอบส่วนแรก หรือ Deductible ที่ 20,000 บาท ถ้าค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท คุณจะต้องจ่ายเองทั้งหมด (ให้อ่านเงื่อนไขให้ละเอียดด้วยว่าเป็นค่ารับผิดชอบส่วนแรกต่อครั้ง หรือต่อปี ซึ่งรายละเอียดทั้ง 2 แบบนี้จะต่างกันนะครับ)

• ค่าเบี้ยประกันแบบ Deductible จะถูกกว่าแบบ Co-payment และถ้ามีสวัสดิการสุขภาพจากที่ทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเลือกประกันแบบไหน ก็ใช้สวัสดิการจากที่ทำงานมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างได้

บทความ ประกันสุขภาพสำหรับวัยทำงาน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

5. รักษาสุขภาพให้ดี ลดปัจจัยที่ทำให้ค่าเบี้ยเพิ่มขึ้น

อย่างที่บอกไปแล้วว่าค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นก็คือความเสี่ยงด้านสุขภาพ ฉะนั้นวิธีหนึ่งที่จะไม่ทำให้ค่าเบี้ยเพิ่มขึ้นก็คือการดูแลตัวเองอย่างดีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ , กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ , พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ โอกาสที่จะเจ็บป่วยก็น้อยลง โอกาสที่ค่าเบี้ยจะเพิ่มขึ้นก็น้อยลงตามไปด้วย

การต่อประกันสุขภาพโดยค่าเบี้ยไม่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เริ่มด้วยการเลือกแผนประกันที่เหมาะกับตัวเอง เลือกเฉพาะความคุ้มครองที่จำเป็นและดูแลตัวเองอย่างดีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หากทำได้เช่นนี้ ประกันสุขภาพก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุณรองรับความเสี่ยง หากเจ็บป่วยเมื่อไหร่ ประกันก็พร้อมดูแลโดยที่ค่าเบี้ยไม่เป็นภาระทางการเงิน

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ