วิธีวางแผนการเงินของคนอายุ 30

วิธีวางแผนการเงินของคนอายุ 30

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุย่างเข้าเลขสาม ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มต้นสร้างครอบครัวและมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถจัดการและบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างราบรื่น

1.เงินเก็บสำรองฉุกเฉินสำหรับคนอายุ 30

สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับคนวัยทำงานในอายุ 30 ปี นั่นคือการตั้งเป้าหมายเพื่อเก็บเงิน โดยเฉพาะเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ โดยในอดีตอาจมีหลายคนแนะนำให้เก็บเงินสำรองไว้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ปัจจุบันอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงควรมีเงินเก็บฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อที่จะได้รับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ตกงาน ปัญหาสุขภาพและภัยธรรมชาติ โดยเงินสำรองที่เก็บไว้ควรแยกออกจากเงินบัญชีหลัก เพื่อป้องกันการนำมาใช้

2.ทำประกันอะไรบ้าง

วัย 30 ปี เป็นวัยทำงานและกำลังสร้างครอบครัว สิ่งสำคัญที่สุดคือปัญหาสุขภาพและการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะวัยดังกล่าวกำลังมีไฟ หักโหมทำงานหนักเพื่อสร้างผลงาน หาเงินสำหรับสร้างครอบครัวและอนาคต ดังนั้นประกันที่ควรทำประกอบไปด้วย

ประกันสุขภาพ แม้ในวัยทำงานจะมีในส่วนของประกันสังคม แต่เป็นเพียงการดูแลรักษาที่มีขอบเขตที่จำกัด หากจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ขาดรายได้ หรือได้รับเงินชดเชยแต่ไม่เพียงพอ ถ้ามีประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม ดูแลในเรื่องของการรักษาพยาบาล , ชดเชยรายได้ระหว่างการรักษา ซึ่งประกันสังคมไม่มีให้ ถ้าได้เลือกประกันสุขภาพควรเลือกประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับความต้องการของคุณด้วย

ประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ในวัย 30 ปี บางคนเริ่มที่จะมีครอบครัว นอกจากจะทำประกันให้กับตนเองแล้ว อย่าลืมที่จะทำประกันสุขภาพให้กับลูกน้อยด้วย เพราะเด็ก ๆ มักป่วยบ่อย หากต้องนำเงินฉุกเฉินมาใช้จะทำให้ระบบการเงินมีปัญหาได้ โดยเฉพาะหากต้องการให้ลูกรับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน ต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคืนละ 8,000 – 10,000 บาท

ประกันชีวิต เพื่อคุ้มครองครอบครัวของคุณในกรณีที่คุณเสียชีวิต ควรเลือกประกันชีวิตที่มีทุนประกันสูงพอที่จะต่อชีวิตให้กับคนข้างหลัง หรือเอาไว้เป็นทุนสร้างชีวิตในอนาคตของพวกเขา

ประกันอุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองค่าใช้จ่ายในกรณีที่คุณประสบอุบัติเหตุ โดยเลือกประกันอุบัติเหตุที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับความเสี่ยงที่คุณอาจจะต้องเผชิญ

3.วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

ทุก ๆ การใช้จ่ายควรทำการจดบันทึกรายรับและรายจ่ายของคุณอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงพฤติกรรมการใช้เงินของคุณได้ โดยแบ่งค่าใช้จ่ายของคุณออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายคงที่ ประกอบไปด้วยค่าผ่อนบ้าน , ค่าเช่าบ้าน , ค่าผ่อนรถ , ค่าประกัน , ค่าใช้จ่ายผันแปร ได้แก่ ค่าอาหาร , ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า , ของใช้ส่วนตัว และค่าความสุขของตนเอง โดยตั้งงบประมาณและใช้จ่ายให้เป็นไปตามงบหรือน้อยกว่างบที่ตั้งไว้

4.เป้าหมายการออมของคนอายุ 30

ในวัยนี้จะแบ่งการออมออกเป็น 3 – 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

  • การออมเพื่อการเกษียณ โดยในช่วงแรกอาจจะยังเก็บเงินไม่ได้มากนัก เพราะเริ่มมีครอบครัว แต่ใช่ว่าจะไม่ออมเลย อาจตั้งเป้าหมายในการออมอย่างน้อย 10-15% ของรายได้
  • ออมเพื่อซื้อบ้าน หากคุณมีแผนที่จะซื้อบ้านในอนาคต ควรเริ่มต้นออมเงินเพื่อดาวน์บ้านโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยตั้งเป้าหมายออมเงินให้ได้อย่างน้อย 20-25% ของราคาบ้าน
  • ออมเพื่อการศึกษาของลูก สำหรับคนที่มีลูกน้อยให้เริ่มต้นออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกน้อยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยตั้งเป้าหมายออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ของคุณ หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานศึกษาที่คุณเลือก

5.ศึกษาและเริ่มลงทุนเพื่อต่อยอดเงิน

ศึกษาและเริ่มลงทุนเพื่อต่อยอดเงิน

ควรศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คุณสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการเงินของคุณ โดยเริ่มต้นจากการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ จากนั้นควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอและอดทนรอคอยผลตอบแทนในระยะยาว

6.วางแผนภาษี

ควรศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายภาษีเพื่อให้คุณสามารถลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เช่น การลดหย่อนภาษีเงินออมเพื่อการเกษียณ , การลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิต และการลดหย่อนภาษีค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีและการเงินหากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับภาษี

7.วิธีเลือกซื้อ SSF-RMF ของคนอายุ 30

  • SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาทต่อปี
  • RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อเกษียณ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาทต่อปี
  • เลือกกองทุน SSF-RMF ที่มีนโยบายการลงทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสมกับความต้องการและเป้าหมายทางการเงินของคุณ
  • ลงทุนใน SSF-RMF อย่างสม่ำเสมอและอดทนรอคอยผลตอบแทนในระยะยาว

จะเห็นว่าคนในวัย 30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างครอบครัว การบริหารทางการเงิน อาจเน้นหนักไปที่การออมและสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวในช่วงเวลานั้น เพราะมีในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีลูกและการเตรียมตัวซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย ในขณะที่การออมเพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณเองก็ละทิ้งไม่ได้ แม้จะออมน้อยลงแต่ใช่ว่าจะไม่ออมเลย หากแต่อาจต้องแบ่งไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนในระยะยาวและเป็นการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ