วิธีวางแผนการเงินของคนอายุ 40

วิธีวางแผนการเงินของคนอายุ 40

คนในวัย 40 ปี ถือว่าไม่ช้าเกินไปที่จะออมเงินสำหรับระยะเวลาอีก 15-20 ปี โดยประมาณ หากต้องการที่จะเริ่มต้นบริหารการเงินในการเก็บออมและลงทุน แต่ก่อนอื่นลองเช็คสิทธิ์ต่างที่ตนเองมีเพื่อให้มั่นใจว่าจะต้องประมาณการรายรับในช่วงเกษียณโดยที่ไม่ต้องทำงาน อาทิ ประกันสังคม , ประกันออมทรัพย์ และอื่น ๆ โดยประมาณการว่าในแต่ละเดือนจะได้เงินต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ หากเป็นข้าราชการอาจจะต้องเอาเงิน กบข มาร่วมคำนวณด้วย

ชีวิตช่วงวัย 40 ปี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความมั่นคงในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็เต็มไปด้วยความรับผิดชอบและความกังวลในเรื่องการเงินเช่นกัน นี่คือ 7 ขั้นตอนการวางแผนการเงินสำหรับคนอายุ 40 ที่จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าอนาคตทางการเงินของคุณจะสดใสและมั่นคง

1.เงินเก็บสำรองฉุกเฉินสำหรับคนอายุ 40

ในวัย 40 ปี การมีเงินสำรองฉุกเฉินมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแต่มีเงินสำรองที่มากมายเกินพอ แต่ควรเตรียมไว้ในที่ที่สามารถนำมาใช้ได้ในทันที มีสภาพคล่องสูง หากผ่านช่วงวัย 30 ปีมาได้ คาดว่าน่าจะมีเงินสำรองไม่น้อยกว่า 6-12 เดือน หรืออาจต้องมากกว่านั้น เพราะในช่วงวัยดังกล่าวหากต้องตกงานมา จะหางานได้ยาก หรือแทบหาไม่ได้เลย

2.ทำประกันอะไรบ้าง

ทำประกันอะไรบ้าง

ด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคงของคนวัยนี้ อาจจะเน้นหนักไปที่การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยมีวิธีการเลือกดังนี้

  • ประกันชีวิต ควรเลือกประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองที่ยาวนานเพื่อดูแลครอบครัวในกรณีที่คุณเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
  • ประกันสุขภาพ เลือกประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะโรคร้ายแรง เพราะค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในช่วงวัยดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงมากกว่าวัยอื่น ๆ
  • ประกันอุบัติเหตุ แม้จะเป็นวัยที่มีประสบการณ์และใช้ชีวิตที่รอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะละเลยที่จะป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
  • ประกันบ้าน ประกันรถ เพื่อป้องกันความเสียหายจากอัคคีภัย น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินลงไปได้มาก

3.วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

ในช่วงวัย 40 ปี ค่าใช้จ่ายส่วนมากจะหมดไปกับลูกและค่าผ่อนบ้านเสียมากกว่า จึงควรจดบันทึกรายรับและรายจ่ายทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าเงินไปอยู่ที่ไหน พร้อมกับทำงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามหมวดหมู่ เช่น ค่าอาหาร , ค่าเดินทาง , ค่าผ่อนบ้าน/รถ , ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

นอกจากจะจัดทำรายรับ รายจ่ายแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ “ลดค่าใช้จ่าย” ควรมองหาช่องทางในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการใช้รถยนต์ หันไปใช้บริการสาธารณะ เลือกซื้อของที่ราคาถูกกว่าในคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น

4.เป้าหมายการออมของคนอายุ 40

คนอายุ 40 ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากคนวัย 30 ปี และหน้าที่การงานที่มั่นคง เชื่อได้ว่าหากออมเงิน 10-15% ที่เคยออมไว้ในช่วงที่ผ่านและทำอย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ต้องเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อให้มันงอกเงยภายใต้ความเสี่ยงในระดับต่ำ-ปานกลาง ก็น่าจะเพียงพอ เพราะหากมีอะไรผิดพลาดจะได้ไม่กระทบกับเงินเก็บมากนัก โดยมุ่งเน้นไปที่การเก็บเงินเพื่อเกษียณ , เงินเพื่อการศึกษาลูก และเงินทุนสำรอง

เป้าหมายการออมของคนอายุ 40
  • เริ่มออมเงินเพื่อเกษียณอย่างน้อย 10-15% ของรายได้ โดยใช้เครื่องมือการลงทุน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (SSF) หรือจะออมผ่านประกันชีวิตในรูปแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น
  • เริ่มออมเงินเพื่ออนาคตการศึกษาของบุตรตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดภาระทางการเงินในอนาคต ซึ่งอาจเป็นรอยต่อจากช่วงวัย 30 ปี เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามอายุของลูก
  • ยังคงเก็บเงินทุนสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินอยู่ เพราะไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
  • อาชีพเสริม ควรเริ่มมองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพหลังเกษียณได้แล้ว หากใครที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤตโควิดมาได้จะรู้ดีว่า ทุกคนควรจำเป็นที่จะต้องมีอาชีพเสริม เผื่อวันใดวันหนึ่งอาชีพหลักประสบปัญหาจะยังมีอาชีพที่สองไว้ประคับประคองชีวิตได้

5.ศึกษาและเริ่มลงทุนเพื่อต่อยอดเงิน

การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อต่อยอดทางการเงิน การเรียนรู้เพื่อศึกษาการลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น , ทองคำ , กองทุนรวม โดยอาจจะเริ่มลงทุนด้วยตนเองจากความเสี่ยงน้อย ๆ อย่างกองทุนรวมหุ้น , กองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น

หลังจากที่เรียนรู้เรื่องการลงทุนแล้วก็อย่าลืมที่จะศึกษาในเรื่องของการกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดโอกาสการขาดทุนลงได้

6.วางแผนภาษี

ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุนเพื่อนำมาใช้งานในการลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการซื้อประกันชีวิต , ประกันสุขภาพ , การลงทุนในกองทุน RMF และ SSF

7.วิธีเลือกซื้อ SSF-RMF ของคนอายุ 40

ก่อนที่จะลงทุนสิ่งใดควรตั้งเป้าหมายและกำหนดวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตนเองเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เช่น การลงทุนระยะสั้น อย่างการซื้อสลาก, การฝากประจำ 12-24 เดือน, การลงทุนระยะยาว เช่น การซื้อกองทุน RMF หรือ SSF เป็นต้น

วิธีการเลือกซื้อกองทุน RMF และ SSF

  • แนะนำให้ดูในส่วนของค่าธรรมเนียม
  • วัตถุประสงค์ของกองทุน
  • ผลตอบแทนในอดีต แม้ว่าจะไม่สามารถนำมากำหนดผลประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ดูไว้ว่าเป็นกองทุนที่ไม่เคยขาดทุน
  • ความเสี่ยงที่รับได้ โดยเน้นไปที่ระดับความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนอายุ 40 ปี จะต้องวางแผนอย่างมีระบบและระมัดระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้น เพราะถือเป็นช่วงบั้นปลายของชีวิตในการทำงาน แม้จะเหลืออายุงานเพียง 15-20 ปีเท่านั้น แต่ถ้าหากตั้งใจออมเงินและลงทุนอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินและมั่นใจได้ว่าชีวิตของคุณจะเต็มไปด้วยความสุขและความมั่นคงในวัยเกษียณได้

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ