เงินเฟ้อส่งผลต่อเงินออมและการลงทุนอย่างไร?

inflation-and-investment

เงินเฟ้อ (Inflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น ในขณะมูลค่าของเงินลดลง กล่าวคือเงินจำนวนเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง เช่น เงิน 100 บาท จากเดิมเมื่อปีที่แล้วซื้อน้ำตาลในราคา กิโลกรัมละ 25 บาทได้ 4 กิโลกรัม แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลขึ้นมาที่กิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เงิน 100 บาท ซื้อน้ำตาลได้เพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น สาเหตุของเงินเฟ้ออาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต หรืออุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น นอกจากนี้นโยบายทางการเงินของภาครัฐ เช่น การเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อได้

เงินเฟ้อยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินออมและการลงทุนของคนทุกคน หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี เงินออมของคุณจะค่อย ๆ มีมูลค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ในบทความนี้จะพาไปดูกันว่าเงินเฟ้อมีผลต่อค่าครองชีพ เงินออม และการลงทุนอย่างไร พร้อมแนวทางรับมือเพื่อรักษามูลค่าของเงินให้ดีที่สุด

เงินเฟ้อ และผลกระทบต่อค่าครองชีพ

หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดของปัญหาเงินเฟ้อ คือ ‘ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น’ เมื่อราคาสินค้าและค่าบริการแพงขึ้น แต่รายได้ของผู้คนไม่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นตามได้ ทำให้กำลังซื้อของเงินลดลง ตัวอย่างผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อค่าครองชีพ ได้แก่

  • ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น ราคาอาหาร , น้ำดื่ม , น้ำมัน , ค่าเดินทาง , ค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นตาม
  • ค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะพนักงานในระดับกลางลงมา หรืออาชีพที่ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาเงินเฟ้อ เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เมื่อรายได้ไม่ปรับตัวสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต เนื่องจากจะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลง หรือต้องประหยัดแม้ในส่วนที่จำเป็นก็ตาม
  • เงินจำนวนเท่าเดิมที่เคยใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ในจำนวนมากกลับซื้อได้น้อยลง เป็นการลดอำนาจในการจับจ่ายของประชาชน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเพราะมีการบริโภคที่ลดลง
  • หากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ภาระหนี้สินก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลก็จะสูงขึ้น
inflationandinvestment

วิธีปกป้องเงินออมในภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อเงินเฟ้อทำให้มูลค่าของเงินออมลดลง การเก็บเงินสดไว้เฉย ๆ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและปกป้องเงินออมจากเงินเฟ้อมีวิธีการต่อไปนี้

  • ฝากเงินในบัญชีดอกเบี้ยสูง  จากเดิมที่มีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ให้เปลี่ยนไปเลือกฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินฝากประจำของธนาคารให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฝากประจำ 12 เดือน , 24 เดือน และ 36 เดือน หรือพิจารณาฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า
  • กระจายการลงทุน  จากเดิมที่ฝากเงินในบัญชีเพียงอย่างเดียว ให้แบ่งเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น ทองคำ , หุ้น , อสังหาริมทรัพย์ , พันธบัตร ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลและมีความรู้ในสินทรัพย์นั้น ๆ เป็นอย่างดี 
  • ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในภาวะเงินเฟ้อสูงควรปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่ายให้เหมาะสมเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน โดยพยายามอย่าให้รายจ่ายเท่ากับหรือมากกว่ารายรับ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา
  • ติดตามอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย  อัปเดตข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจอยู่เสมอ จะช่วยให้สามารถปรับกลยุทธ์การออมและการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

บทความ เทคนิคในการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการออม

ทางเลือกการลงทุนที่ช่วยรักษามูลค่าของเงิน

“การลงทุนมีความเสี่ยง” แต่ถ้าไม่ลงทุนอะไรเลยยิ่งมีความเสี่ยงกว่า โดยเฉพาะในสภาวะที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง แต่จะลงทุนอย่างไรให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้ในการลงทุนนั้น ๆ ด้วย ทางเลือกที่เหมาะสมในการลงทุนเพื่อชะเงินเฟ้อ ได้แก่ 

  • หุ้น การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตสูง หรือบริษัทที่สามารถปรับราคาสินค้าและบริการตามเงินเฟ้อได้ เช่น หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค , กลุ่มพลังงาน สามารถช่วยป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อได้ดี 
  • กองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตตามเศรษฐกิจมักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก 
  • ทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและมีมูลค่าในตัวที่สูงและเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เพียงแต่จะต้องหาจังหวะในการสะสมเมื่อราคาย่อตัว หากต้องการจะลงทุนในทองคำ แนะนำให้ซื้อทองคำแท่งเพราะเสียค่ากำเหน็จน้อยหรืออาจไม่เสียเลย 
  • อสังหาริมทรัพย์  การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปล่อยเช่าบ้าน , คอนโด , ที่ดิน สามารถช่วยป้องกันเงินเฟ้อได้ เนื่องจากมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์จะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นตามสภาพเงินเฟ้อ เพียงแต่ต้องเลือกทำเลที่เหมาะสม
  • สลากออมสิน / สลาก ธ.ก.ส. หรือ พันธบัตรรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน แม้ผลตอบแทนจะไม่หวือหวา แต่มีความมั่นคงสูง เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนประเภทอื่น ๆ อย่าง คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency)  ซึ่งมีความผันผวนสูงมาก ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเพราะมีความเสี่ยงสูงมาก

เงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ เงินออม และการลงทุน หากไม่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี มูลค่าของเงินจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อปกป้องเงินออมควรเลือกฝากเงินในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น หุ้น , อสังหาริมทรัพย์ , ทองคำ และพันธบัตร ที่ปรับอัตราผลตอบแทนตามเงินเฟ้อ การติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบจะช่วยให้สามารถรักษามูลค่าของเงินและรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความ วางแผนการเงินในยุคเงินเฟ้อ