ประกันมรดก
การส่งมอบมรดกให้ลูกหลานหรือใครก็ตามที่คุณรัก นอกจากจะเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับคนเหล่านั้นแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความห่วงใยที่คุณมีให้กับพวกเขา การมอบมรดกให้คนที่คุณรักสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การให้ทรัพย์สินในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ , การทำพินัยกรรม หรือแม้แต่การส่งต่อมรดกด้วยเงินจากประกันชีวิตซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ประกันมรดก” ประกันประเภทนี้ไม่ได้มีดีเพียงการส่งต่อเงินก้อนเพื่อสร้างความมั่นคงให้คนรุ่นต่อไปเท่านั้น แต่ยังมีดีในเรื่องของภาษีอีกด้วย ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักประกันมรดกให้มากขึ้น
ประกันมรดกคืออะไร?
ความจริงแล้ว ‘ประกันมรดก’ ไม่ได้เป็นประเภทของประกันอย่างเป็นทางการ แต่ประกันประเภทนี้คือรูปแบบหนึ่งของประกันชีวิตซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการส่งต่อเงินประกันเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน โดยคนกลุ่มนี้จะเลือกออมเงินกับแผนประกันชีวิตตลอดชีพที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว (เช่น คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี) และมีระยะการจ่ายเบี้ยให้เลือก (เช่น เลือกจ่ายเบี้ยได้ตั้งแต่ 10 หรือ 15 ปี) เมื่อเป็นประกันที่จับกลุ่มผู้ต้องการส่งมอบมรดกให้ลูกหลาน ทุนประกันจึงมักจะเป็นเงินก้อนใหญ่ (เช่น ทุนประกันหลักล้าน หรือสิบล้านบาทขึ้นไป) โดยเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินประกันไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ คือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้ค่าเบี้ยประกัน 100% เต็มพร้อมกับผลประโยชน์อื่น ๆ ตามเงื่อนไข
ประกันมรดกมีจุดเด่นอย่างไร และเหมาะกับใคร?
หากถามว่าประกันมรดกเหมาะกับใคร คำตอบที่จริงที่สุดก็คือเหมาะกับทุกคนที่ต้องการส่งมอบเงินก้อนเป็นมรดกให้ลูกหลานหลังจากที่ตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ที่มีแผนการออมเงินเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะยิ่งมีชีวิตอยู่นาน ผลตอบแทนจากเบี้ยประกันก็จะยิ่งมากขึ้น เช่น หากคุณจ่ายเบี้ยประกัน 10 ปี สำหรับแผนประกันมรดกที่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี ค่าเวนคืนกรมธรรม์ (เงินที่จะได้รับคืน) เมื่ออายุ 60 ปี กับ 80 ปี ก็ต่างกันมาก แต่อย่างน้อยการันตีได้เลยว่าผู้รับผลประโยชน์ได้เงินก้อนที่คุ้มค่าแน่นอน
สำหรับจุดเด่นของประกันมรดกคือกำหนดผู้รับผลประโยชน์ได้อย่างชัดเจน โดยจะเป็นใครก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท) หมดปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เพราะหลังจากคุณเสียชีวิตผู้รับผลประโยชน์สามารถนำใบมรณะบัตรไปติดต่อรับเงินประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องขัดแย้งกับคนอื่นในครอบครัว
ประกันมรดกมีประโยชน์อย่างไร?
นอกจากจุดเด่นเรื่องการกำหนดผู้รับผลประโยชน์ที่เราบอกไปแล้ว ประกันมรดกยังมีประโยชน์อีกอย่างน้อย 3 ข้อ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือประโยชน์ทางภาษีทั้งการนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีและเรื่องเกี่ยวกับภาษีมรดก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
กฎหมายภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ได้ให้นิยามของมรดกที่ต้องนำมาเสียภาษีไว้ว่าหมายถึง “ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” ซึ่งจากนิยามนี้จะเห็นว่าเงินสินไหมทดแทนจากประกันที่มอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ไม่ถือว่าเป็นมรดก เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากการได้รับเงินสินไหมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเสียชีวิตแล้ว ด้วยเหตุนี้เองเงินที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับจากการทำประกันจึงไม่ต้องนำมาเสียภาษีมรดก
2.ลดหย่อนภาษีได้
ประกันมรดกส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มประกันชีวิตตลอดชีพ เพราะเป็นแผนประกันที่วงเงินเอาประกันค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่าย และระยะเวลาคุ้มครองส่วนใหญ่จะนานกว่าประกันชีวิตแบบปกติ นอกจากนี้เบี้ยประกันตลอดชีพยังนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละ 1 แสนบาท จึงถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบทั้งประโยชน์ทางภาษีและเงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับ
3.เจ้าหนี้เรียกร้องไม่ได้
เงินซึ่งผู้รับผลประโยชน์ได้รับหลังจากผู้ทำประกันเสียชีวิต ถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้รับ ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนี้สินของผู้ทำประกัน ดังนั้นเจ้าหนี้จึงเรียกร้องไม่ได้ ทำให้ผู้รับผลประโยชน์ยังคงได้รับเงินเต็มจำนวนตามสัญญาในกรมธรรม์เหมือนเดิม
คงเห็นแล้วว่าประกันมรดกมีจุดเด่นมากมาย นอกจากคุณจะมั่นใจได้ว่ามีเงินก้อนให้คนที่คุณรักอย่างแน่นอนแล้ว ยังมีประโยชน์ทางภาษีในขณะที่จ่ายเบี้ยประกันอีกด้วย หากต้องการทำประกันประเภทนี้เพื่อวางแผนการเงินในระยะยาว ก็สามารถติดต่อกับตัวแทนประกันเพื่อขอทำประกันมรดกหรือประกันชีวิตตลอดชีพได้เลย
ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ