การลงทุนแบบไหน เสียภาษี – ไม่เสียภาษี

การลงทุนแบบไหน เสียภาษี – ไม่เสียภาษี

เมื่อเราทุกคนต่างล้วนต้องการอนาคตที่มั่นคงและอยากมีอิสระทางด้านการเงิน เครื่องมือบริหารการเงินที่เรียกกันว่า ‘การลงทุน’ จึงได้รับความนิยมเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันการลงทุนมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท อาทิเช่น หุ้น , กองทุนรวม , ตราสารหนี้ , ทองคำ , อสังหาริมทรัพย์ , ประกันชีวิตควบคู่การลงทุน และสกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความต้องการโดยพิจารณาจากเป้าหมายที่วางไว้ , งบประมาณที่มี , ความรู้ด้านการลงทุน และความเสี่ยงที่รับได้

ทั้งนี้ ‘ภาษี‘ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ นั่นเพราะผลประโยชน์ที่งอกเงยการลงทุนไม่ว่าจะเป็น เงินปันผล , ดอกเบี้ยรับ , ส่วนลดรับ หรือกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ถือเป็นรายได้ที่ผู้ลงทุนจะต้องชำระภาษี เว้นแต่การลงทุนบางประเภทที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการละเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการออม และการลงทุน ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรทราบเป็นเบื้องต้นว่าการลงทุนแบบใดที่ต้องเสียภาษี และการลงทุนแบบใดที่ไม่ต้องเสียภาษี

การลงทุนแบบเสียภาษี มีอะไรบ้าง

การลงทุนในตราสารทุน

  • รายได้ที่เกิดจากเงินปันผล ผู้ลงทุนสามารถเลือกชำระภาษีเงินปันผลได้ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% หรือนำเอาจำนวนเงินปันผลที่ได้รับทั้งหมดไปคำนวณรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีช่วงปลายปีซึ่งกรณีนี้จะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล
  • รายได้ที่เกิดจากการขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจะต้องชำระภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์นั้น (ยกเว้นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

การลงทุนในกองทุนรวม

รายได้ที่เกิดจากเงินปันผล ผู้ลงทุนสามารถเลือกชำระภาษีเงินปันผลได้ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% หรือนำเอาจำนวนเงินปันผลที่ได้รับทั้งหมดไปคำนวณรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีช่วงปลายปี แต่กรณีนี้จะไม่ได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล

การลงทุนในตราสารหนี้

  • ดอกเบี้ยซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในตราสารหนี้จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ทั้งนี้ผู้ลงทุนมีสิทธิ์เลือกที่จะไม่นำเอาจำนวนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นไปคำนวณรวมกับเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปี
  • ส่วนลดรับจากการลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนซึ่งเป็นผู้ทรงคนแรกจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และสามารถเลือกที่จะไม่นำเอาส่วนลดรับนั้นไปคำนวณรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปีก็ได้
  • รายได้ที่เกิดจากการขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนต้องชำระภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์นั้น โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และสามารถเลือกที่จะไม่นำเอากำไรจากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไปคำนวณรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปีก็ได้ ยกเว้น Zero Coupon Bond ที่ผู้ทรงคนแรกได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใน อัตรา 15% แล้ว
การลงทุนแบบไม่เสียภาษี มีอะไรบ้าง

การลงทุนแบบไม่เสียภาษี มีอะไรบ้าง

นอกจากการลงทุนที่ต้องเสียภาษีดังข้างต้นแล้ว ยังมีการลงทุนบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี แถมบางกรณียังสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีประจำปีได้ด้วย เช่น

การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( Retirement Mutual Fund : RMF )

การลงทุนในกองทุน RMF จะได้รับการยกเว้นภาษี ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  • – ผู้ลงทุนต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน ( ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินได้ก็ไม่ต้องลงทุน เนื่องจาก 3% ของเงินได้เท่ากับศูนย์ )
  • – ผู้ลงทุนต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือขั้นต่ำ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า)
  • – ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคำนวณรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วจะต้องไม่เกิน 300,000 บาท -ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • – ใช้หักลดหย่อนภาษีได้ถึง 15% ของเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี โดยเมื่อคำนวณรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม ( Super Savings Fund : SSF )

การลงทุนในกองทุน SSF จะได้รับการยกเว้นภาษี ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ โดยไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  • ใช้หักลดหย่อนภาษีได้จริงตามที่จ่าย หรือไม่เกิน 30% ของเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อคำนวณรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

เนื่องจากได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 2 (32) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ.ศ.2509

  • การลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ( Infrastructure Fund ) หมายถึงกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครง สร้างพื้นฐานอันประโยชน์สาธารณะของประเทศ เช่น ไฟฟ้า , ประปา , โทรคมนาคม , ระบบขนส่ง และการคมนาคม เป็นต้น โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้จะมีการระบุอย่างชัดเจนว่านำเงินลงทุนไปใช้ในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทใด
  • การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • -สำหรับผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์
  • -ได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลเมื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (หากเป็นบริษัทที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%)

แม้การลงทุนจะมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ ทั้งนี้ก็เพื่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนพึงได้รับ และเพื่อเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้นั่นเอง ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ