เด็กจบใหม่ เงินเดือนน้อยไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ต้องยื่นภาษีหรือไม่
เงินเดือนน้อยไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี

เด็กจบใหม่เงินเดือนน้อย ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีต้องยื่นภาษีหรือไม่

เมื่อเรียนจบการศึกษาไม่ว่าจะเป็น ปวช ปวส หรือ ปริญญาตรี แล้วต้องหางานทำเพื่อหารายได้สร้างอนาคต หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แรกเริ่มทำงานได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเพียงเท่านี้ จะต้องเสียภาษีหรือเปล่านะ? แล้วเงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะต้องยื่นภาษีประจำปีล่ะ? ทำให้มีคำถามและข้อสงสัยมากมายเต็มไปหมด และคำถามเหล่านั้น TPIS มีคำตอบให้แล้ว

เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ?

หากได้เงินเดือน หรือ มีรายได้จากหลายทางเกิน 10,000 บาท ต่อเดือน (120,000 บาท/ปี) จำเป็นต้องยื่นภาษีทุกคน ซึ่งหมายความว่า น้องๆ จบใหม่ที่ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่านั้น ต้องยื่นภาษีตามกฎหมาย และการยื่นภาษีเงินได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษีนะ

ดังนั้น เพื่อคลายข้อสงสัย ระหว่าง การยื่นภาษี กับ การเสียภาษีเงินได้ นั้นคืออะไร จึงสรุปได้ว่า

การยื่นภาษีเงินได้ คือ การที่บุคคลที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ประจำปีละ 1 ครั้ง

การเสียภาษีเงินได้ คือ เมื่อยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อ เงินได้หักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้นซึ่งตามกฎหมายแล้ว กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้ แม้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี จำเป็นต้องยื่นแบบภาษีแสดงรายได้ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือระดับรายได้ ที่ต้องยื่นแบบภาษี 2 กรณี ได้แก่

ยื่นแบบภาษีสำหรับคนโสด

สำหรับหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส หรือต้องการแยกยื่นแบบภาษี ก็สามารถเลือกวิธีนี้ได้

  • ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท) ต้องยื่นแบบภาษี แต่ถ้าหากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี กรณีนี้จะไม่ยื่นภาษีก็ไม่ผิด
  • ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีตามกำหนด
  • ไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน

ยื่นแบบภาษีสำหรับจดทะเบียนสมรสแล้ว

สำหรับชายและหญิงที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายสามารถยื่นแบบภาษีรวมกันสองคน ดังนี้

  • กรณีได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 18,333 บาท) จะต้องยื่นแบบภาษี
  • ถ้าหากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นภาษี แม้ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม
  • หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษี

สรุป

ถึงแม้ว่าเรามีเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่หากมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ ต้องนำมารวมกันทั้งหมดแล้ว หักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากนั้นค่อยยื่นแบบภาษีเงินได้ ถ้ารายได้เกินตามที่กฎหมายกำหนดก็ชำระภาษีแบบขั้นบันได

เงินเดือนหรือรายได้เท่าไหร่ถึงจะต้องเสียภาษี

โดยมีวิธีคำนวณ ดังนี้

รายรับทั้งปี – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว – หักค่าลดหย่อนภาษี = รายได้สุทธิ

เกณฑ์รายได้สุทธิในการจ่ายภาษีเงินของบุคคลธรรมดา

  • 1 – 150,000 บาท = ได้รับการยกเว้น
  • 150,001 – 300,000 บาท = ร้อยละ 5
  • 300,001 – 500,000 บาท = ร้อยละ 10
  • 500,001 – 750,000 บาท = ร้อยละ 15
  • 750,001 – 1,000,000 บาท = ร้อยละ 20
  • 1,000,001 – 2,000,000 บาท = ร้อยละ 25
  • 2,000,001 – 5,000,000 บาท = ร้อยละ 30
  • 5,000,001 บาทขึ้นไป = ร้อยละ 35

ถึงทุกคนที่เรียนจบใหม่ๆ หรือประชาชนทั่วไปที่มีเงินได้รวมตั้งแต่ 10,000 ขึ้นไปต่อเดือน จำเป็นต้องยื่นภาษีทุกคน แต่ถ้ารายได้สุทธิหลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว สามารถนำตัวเลขนั้นไปคำนวณเกณฑ์การเสียภาษี

หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง แต่ถ้าหลังจากคำนวณแล้ว มีรายได้สุทธิมากกว่า 150,001 บาท ต่อปีขึ้นไป จะต้องเสียภาษีนะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมสรรพากร