วางแผนการเงิน หลังเกษียณ

วางแผนการเงิน หลังเกษียณ

เราทุกคนต่างต้องการมีชีวิตบั้นปลายที่สงบสุข แต่คำว่า ‘Happy Ending‘ ก็ต้องมาพร้อมกับการวางแผนชีวิตที่ดีเช่นกัน เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณ รายได้ที่เคยมีจะไม่เหมือนเดิม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน , ค่าเดินทาง , การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมนันทนาการ รวมทั้งการดูแลรักษาสุขภาพ ล้วนเป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขจึงจำเป็นต้องมีเงินเก็บที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายพื้นฐานเหล่านั้น

การวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณให้สำราญไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลที่มีอายุมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่ทุกคนสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคงได้ตั้งแต่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน โดยมีเคล็ดลับดังนี้

กำหนดอายุเกษียณของตนเอง

กำหนดอายุเกษียณของตนเอง

การกำหนดอายุเกษียณของตนเองจะทำให้ทราบระยะเวลาการทำงานที่เหลืออยู่ และสามารถคาด คะเนช่วงเวลาการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ ยกตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 30 ปี วางเป้าหมายเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และหากพิจารณาจากอายุขัยเฉลี่ยของคนในครอบครัวรวมทั้งความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายแล้วประมาณการได้ว่า นาย A น่าจะมีอายุขัย 80 ปี นั่นหมายความว่า นาย A มีเวลาทำงานเหลืออีก 30 ปี เพื่อจะเก็บออมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 20 ปี ทั้งนี้โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะวางแผนเกษียณเมื่อมีอายุประมาณ 55-60 ปี

คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

เมื่อทราบแล้วว่าเหลือระยะเวลาในการทำงานกี่ปี และจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกกี่ปี จากนั้นจึงมาคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณซึ่งจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน โดยสามารถคำนวณได้ง่าย ๆ จากสูตร

จำนวนเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี* X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
( * ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน หรือปรับสัดส่วนได้ตามต้องการ )

จากตัวอย่างข้างต้น นาย A คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังเกษียณอีก 20 ปี ทั้งนี้ในปัจจุบันนาย A มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนของนาย A จึงอยู่ที่ 21,000 บาท ( 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ) หรือ 252,000 บาท ต่อปี ดังนั้น

จำนวนเงินที่นาย A ควรมี = 252,000 บาท X 20 ปี
= 5,040,000 บาท

นั่นหมายความว่า นาย A ควรต้องเก็บเงินออมให้ได้ 5,040,000 บาท ภายในระยะเวลา 30 ปีก่อนเกษียณ อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นเพียงการคำนวณง่าย ๆ เบื้องต้นโดยยังไม่ได้คิดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ( ประมาณ 3% ต่อปี ) ซึ่งหากคิดคำนวณอัตราเงินเฟ้อร่วมด้วยแล้วอาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า แม้ว่าจำนวนเงินออมที่ควรมีก่อนเกษียณ (จากการคำนวณในขั้นตอนนี้) ค่อนข้างสูง แต่อย่าลืมว่าในระยะเวลาการทำงานที่เหลืออยู่นั้นรายรับของเราอาจเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานเงินเดือน , โบนัส , เงินพิเศษต่าง ๆ รวมถึงรายได้จากช่องทางอื่นนอกเหนือจากงานประจำ เช่น การลงทุน และอาชีพเสริม เป็นต้น

คำนวณเงินเก็บที่เหลืออยู่

คำนวณเงินเก็บที่เหลืออยู่

เมื่อทราบเป้าหมายจำนวนเงินเก็บที่ควรมีก่อนเกษียณอายุแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการสำรวจเงินเก็บที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก , เงินประกันสังคม , หุ้น หรือเงินจากกองทุนต่าง ๆ เพื่อประเมินว่าขณะนี้มีเงินเก็บอยู่เท่าไร และต้องวางแผนเก็บออมเพิ่มอีกจำนวนเท่าไรเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้

หาประกันที่ช่วยดูแลความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรา

ต้องยอมรับว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” สิ่งไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นกับชีวิตได้เสมอ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมธรรม์ประกันชีวิตจึงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองดูแลสุขภาพหรือการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต

ประกันสุขภาพ

การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สำหรับคนวัยทำงานหากต้องหยุดพักรักษาตัวโดยไม่มีประกันสุขภาพช่วยคุ้มครองดูแลย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ และค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจต้องนำเอาเงินเก็บมาใช้ในการรักษาพยาบาล ส่งผลให้เป้าหมายการเกษียณอายุที่วางไว้ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณร่างกายย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ประกันสุขภาพจะช่วยรองรับความเสี่ยงนี้ได้โดยไม่รบกวนเงินสำรองใช้จ่ายยามเกษียณ

ประกันสะสมทรัพย์

ประกันชีวิตที่อยู่ในรูปแบบของการออมเงินควบคู่กับการให้ความคุ้มครองระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณ ทั้งยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้แล้วแต่ละกรมธรรม์ยังมอบเงินปันผล และเงินคืนรายงวดให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ด้วย อย่างไรก็ตามประกันประเภทนี้จะให้ผลประโยชน์คุ้มค่าก็ต่อเมื่ออยู่ครบตามสัญญาเท่านั้น

ประกันบำนาญ

เป็นประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายกับประกันสะสมทรัพย์เพียงแต่ผู้เอาประกันต้องชำระค่าเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยจะมีลักษณะเป็นการออมเงินอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ ( เช่น 55 , 60 หรือ 65 ปี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละกรมธรรม์ ) จากนั้นเมื่อครบกำหนดแล้ว บริษัทฯ จะจ่ายเงินคืนในรูปแบบของเงินบำนาญ กล่าวคือจ่ายเงินจำนวนเท่ากันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนหรือทุกปี จนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี แล้วแต่เงื่อนไข ซึ่งประกันประเภทนี้จะไม่มีการคืนเงินระหว่างทางแต่จะได้รับการคุ้มครองกรณีเสียชีวิต และสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้

แบ่งเงินบางส่วนไปลงทุน

ควรแบ่งเงินออมสำหรับการเกษียณอายุบางส่วนไปลงทุนเพิ่มภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อให้เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น โดยสามารถจัดสัดส่วนได้ดังนี้

  • เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 2 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังคงมีสภาพคล่อง และมีเงินสำรองพอที่จะใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินได้
  • นำเงินบางส่วนไปฝากประจำในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น ฝากประจำ 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี หรือ 2 ปี โดยควรเลือกให้มีระยะเวลาครบกำหนดไม่พร้อมกันซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสภาพคล่องแล้วยังให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
  • นำเงินส่วนที่เหลือไปกระจายลงทุนโดยพิจารณาจากผลตอบแทน ระยะเวลาการลงทุน และความเสี่ยงที่รับได้ เช่น
  • – การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล , ตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นต้น โดยควรนำเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้ในระยะสั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ภาครัฐ เพื่อรับผลตอบแทนที่แน่นอนในระยะปานกลาง-ยาว
  • – การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ กองทุนรวมตราสารหนี้ , กองทุนรวมผสม , ตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นต้น
  • – การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หุ้นสามัญ , กองทุนรวมหุ้น , กองทุนรวมทองคำ , กองทุนรวมน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีความชำนาญด้านการลงทุนและสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ โดยควรลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินออมและเงินลงทุนทั้งหมด

วางแผนทำอาชีพง่ายๆที่ทำไหว

วางแผนทำอาชีพง่ายๆที่ทำไหว

แม้ว่าโลกของการทำงานประจำจะยุติลงแล้วแต่วัยเกษียณยังคงสามารถทำงานอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งนอกจากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉงและไม่เหงา เช่น เพาะต้นไม้ขาย , ทำเกษตร , ทำอาหารหรือขนมขาย , ทำงานประดิษฐ์หรืองานฝีมือขาย , รับเป็นที่ปรึกษาให้กับภาครัฐหรือบริษัทเอกชน , ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ ,เป็นนักเขียน , รับแปลงาน , เป็นล่าม , เป็นไกด์ , บาริสต้า , พนักงานร้านค้า รวมทั้งอาชีพในโลกออนไลน์ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ , ยูทูบเบอร์ , ติ๊กต๊อกเกอร์, รีวิวสินค้า หรือขายของออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันวัยเกษียณสามารถเลือกทำงานได้มากมายหลายประเภทตามความถนัด และประสบการณ์ที่มี แต่อย่าลืมว่าสุขภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรเลือกอาชีพง่าย ๆ ที่ทำไหวเพื่อความสุขทั้งกาย ใจ และการเงิน

เมื่อวางแผนเกษียณอายุแล้วสามารถเริ่มต้นทำตามแผนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ เพราะยิ่งเริ่มต้นเร็ว เป้าหมายที่วางไว้ก็จะไม่ไกลเกินฝัน และไม่กดดันจนเกินไปนัก ทั้งนี้การวางแผนชีวิตหลังเกษียณอย่างรอบคอบจะช่วยให้เกิดความมั่นคงในทุกด้าน แม้จะเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตก็ยังคงมีความอุ่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรารถนาโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ