วางแผนการเงินฉบับนักเรียน

วางแผนการเงินฉบับนักเรียน

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่วัยเรียนจำนวนมากหันมาสนใจและใส่ใจในการหาความรู้ทางการเงินกันมากขึ้น ในประเทศจีนเองก็มีการประกาศให้คนยุคนี้หันมาแข่งขันกันประหยัด หรือเก็บออมเงินหรือทองกันให้มากขึ้น สำหรับนักเรียนนักศึกษาคนไทยหลายคนได้ครอบครัวให้คำแนะนำเรื่องการเก็บออมเงิน การวางแผนการเงิน ได้ลองทำ Challenge ในกลุ่มเพื่อน ๆ แล้วเกิดติดใจเพราะมองเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้ทัศนคติใหม่ ๆ ว่าการวางแผนการเงินเป็นความสนุกและรู้สึกสุขใจทุกครั้งที่ได้เห็นผลเงินงอกเงยอยู่ตรงหน้า สำหรับคนที่ยังมองหาวิธีวางแผนการเงินในวัยเรียน บทความนี้มีแนวทางดี ๆ มาแนะนำเพื่อก้าวสู่ผลสำเร็จทางการเงินฉบับนักเรียน

1.ทำรายรับ-รายจ่าย และตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น

เพื่อให้เราสามารถมองเห็นกระแสการไหลเข้าออกของเงินได้อย่างชัดเจน เริ่มแรกควรทำรายรับ-รายจ่ายแบบง่าย ๆ จากนั้นนำข้อมูลที่สะสมได้มาวิเคราะห์ต่อ ว่ามีสิ่งไม่จำเป็นปะปนอยู่หรือไม่ แล้วตัดสิ่งไม่จำเป็นออก หรือลดปริมาณการซื้อลงเพื่อลดรายจ่าย เช่น

วันที่ 1 ต.ค. รับ 300 บาท
– จ่ายค่าเดินทาง 50 บาท
– จ่ายค่ามื้อกลางวัน 100 บาท
– จ่ายค่าขนมหวาน 50 บาท
คงเหลือ 100 บาท

จะสังเกตได้ว่า ‘ขนมหวาน’ ไม่ใช่รายการใช้จ่ายที่จำเป็น สามารถตัดออกได้ แต่เพื่อไม่ให้รู้สึกตึงมาก ก็อาจตั้งเงื่อนไขกับตนเอง จำกัดการซื้อขนมหวานให้เหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้เงินเหลือเพิ่มเป็น 150 บาท ต่อวัน

ทำรายรับ-รายจ่าย และตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น

2.แบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน

วิธีนี้เหมาะกับหลาย ๆ คน ควรนำไปทดลองทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับคนที่ชอบใช้เงินเพลิน มารู้ตัวอีกที วันนี้ก็ไม่เหลือเงินเก็บอีกจนได้ ดังนั้น แทนที่ได้เงินมาแล้วจะนำไปใช้จ่ายก่อนเหลือค่อยมาเก็บทีหลัง ก็ดึงเงินส่วนหนึ่งออกมาเก็บไว้ก่อนเลย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เงินส่วนใช้จ่าย และเงินเก็บ เช่น

วันที่ 1 ต.ค. รับ 300 บาท
– แบ่งเก็บทันทีก่อนออกบ้าน 100 บาท
เหลือ 200 บาท พกติดตัวออกไปใช้จ่ายนอกบ้าน

ซึ่ง 200 บาท ที่นำติดตัวออกไปนอกบ้านนั้น เราจะใช้จ่ายให้หมดเลยก็ยังได้ เพราะเรามีเงินเก็บของวันนี้อยู่ที่บ้านเรียบร้อย

3.เก็บเงินติดตัวเท่าที่ใช้

หลายคนอาจกังวลว่า ถ้าเก็บเงินติดตัวเท่าที่ใช้ แล้วเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมาจะทำอย่างไร? โชคดีที่เราอยู่ในยุคดิจิทัล แผนสำรองคือการสแกนจ่ายสำหรับสิ่งฉุกเฉิน ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่ไม่ชอบพกเงินสด การใช้ Mobile Banking App มากกว่าหนึ่งบัญชี ก็เป็นคำตอบที่ดี หนึ่งบัญชีมีไว้เก็บเงิน อีกหนึ่งบัญชีมีไว้เพื่อใช้จ่ายวันต่อวัน หรือจะเลือกใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ของ Mobile Banking App ที่ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายรายวันก็ได้ จุดประสงค์ที่ควรเก็บเงินติดตัวเท่าที่ใช้ ก็เพื่อให้เราคิดก่อนจ่าย เนื่องจากเงินมีอยู่กับตัวจำกัด การจะควักจ่ายออกไปไม่ง่ายเหมือนเวลาที่มีเงินเต็มกระเป๋า เมื่อผ่านกระบวนการคิดก่อน การใช้จ่ายเงินก็จะช้าลง และช่วยกำจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในวันนั้นออกไปได้ง่ายขึ้น

4.เก็บเศษเหรียญ หรือ แบงก์ 20

ก่อนหน้านี้เคยเกิดเทรนด์เก็บแบงก์ 50 ในกลุ่มคนวัยทำงาน และผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าปลื้มอกปลื้มใจไม่น้อย สำหรับนักเรียนนักศึกษา การเก็บแบงก์ 20 หรือเหรียญต่าง ๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน วิธีก็คือให้เราตั้งโจทย์ไว้ว่าเราจะเก็บอะไร ระหว่าง แบงก์ 20 เหรียญ 10 เหรียญ 5 แล้วเวลาได้เงินทอนมาเป็นแบงก์ 20 หรือเหรียญนั้น ๆ ก็เอาไปเก็บสะสมไว้ที่บ้าน อย่านำมาใช้ เมื่อครบ 1 เดือน หรือ 3 เดือน ก็เอาออกมานับสักที คราวนี้ก็จะได้รู้ว่าเงินเล็กน้อยสะสมกัน เมื่อรวมมูลค่าแล้วจะน่าชื่นใจขนาดไหน

เก็บเศษเหรียญ หรือ แบงก์ 20

5.หารายได้เสริม

ในกรณีที่มูลค่าเงินเก็บยังไม่มากพอตามเป้าหมายที่ต้องการ วัยเรียนสามารถหารายได้เสริมได้หลากหลายช่องทางด้วยกัน ก่อนอื่นสำรวจความสามารถของตนเองก่อนว่าทำอะไรได้บ้าง และมองหาว่าจะนำทักษะความรู้นั้นไปสร้างรายได้อย่างไร เช่น สอนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ , รับตัดต่อวิดีโอ , รับทำคอนเทนท์ , รับช่วยงานพาร์ทไทม์ร้านอาหารแถวบ้าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ควรระวังไม่ให้การหารายได้เสริมส่งผลกระทบต่อเวลาพักผ่อน และการเรียนมากจนเกินไป เพราะงานหลักของวัยเรียนคือการศึกษา

6.ใช้บัญชี Digital Banking ดอกเบี้ยสูงในการเก็บเงิน

ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีบัญชี Digital Banking ให้บริการ ความแตกต่างจากบัญชีทั่วไปก็คือ บัญชีลักษณะนี้จะให้ดอกเบี้ยสูง ผูกการใช้งานกับ Mobile Banking App เท่านั้น และไม่มีสมุดคู่ฝาก จึงเหมาะกับการเป็นบัญชีเก็บเงินเพื่อให้มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีทั่วไป

7.เปิดบัญชีเงินฝากประจำ

สาเหตุที่ควรเปิดบัญชีฝากประจำร่วมด้วยก็เพื่อเริ่มต้นลงทุนให้เกิดผลตอบแทนงอกเงยจากความเสี่ยงต่ำ เงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ จะถูกบังคับให้อยู่ในบัญชีนิ่ง ๆ มีแต่จะเติมเข้าในจำนวนที่เท่ากันหรือเพิ่มขึ้นทุกเดือนเพื่อรับดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด จุดประสงค์การรับดอกเบี้ยจะแตกต่างจากบัญชีในข้อด้านบน เพราะบัญชีฝากประจำให้ผลตอบแทนสูงกว่า และฝึกวินัยการออมเงินได้เคร่งครัดกว่า ส่วนบัญชีในข้อ 6 ด้านบน เราอาจเรียกว่าบัญชีพักเงิน คือ ใช้เป็นบัญชีเงินเคลื่อนไหว แต่ให้ความคุ้มค่ากว่าบัญชีมีสมุดทั่วไปเพราะให้ดอกเบี้ยสูงกว่า

8.กำหนดงบในการสังสรรค์

เรื่องการเข้าสังคมเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา แต่การเข้าสังคมก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายเช่นกัน ดังนั้น การจำกัดงบประมาณและจำกัดจำนวนครั้งต่อเดือนจึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้ต้องการเก็บออมเงินไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ยกตัวอย่างเช่น จำกัดการสังสรรค์ 2 ครั้งต่อเดือน ตั้งงบไว้ 500 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้ทุกคนสามารถปรับให้เหมาะสมกับตนเองได้ตามสมควร ขอเพียงเป็นการสังสรรค์ที่ได้ผ่านการวางแผนด้านการเงินไว้แล้ว การสังสรรค์นั้น ๆ ก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเงินในกระเป๋า

กำหนดงบในการสังสรรค์

9.พยายามใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ

นอกจากจะช่วยประหยัดค่าเดินทาง หลายครั้งยังช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ด้วย เพราะบางพื้นที่รถติดหนัก การใช้รถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดินจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นรถโดยสารสาธารณะมักมีส่วนลดค่าเดินทางให้กับนักเรียนนักศึกษาด้วย เรียกได้ว่าคุ้มสองต่อ ถ้าเราใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ถูกที่ถูกเวลา

10.ใช้สิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียนให้คุ้ม

นอกจากส่วนลดที่มักจะได้จากการโดยสารสาธารณะ นักเรียนนักศึกษายังมักได้รับส่วนลดในหลาย ๆ กิจกรรมการใช้จ่าย เช่น ส่วนลดเมื่อซื้อหนังสือ , สื่อการเรียนการสอน , คอมพิวเตอร์ , ค่าตั๋วในสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ ดังนั้น เราจึงควรพกบัตรนักเรียน / บัตรนักศึกษาไว้กับตัวเสมอ และหมั่นสอบถามถึงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ก่อนควักเงินจ่ายค่าอะไรออกไป เชื่อเถอะว่าสิทธิประโยชน์ในลักษณะนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับวัยเรียนอย่างเราได้มากเลยทีเดียว

สำหรับใครก็ตาม ที่สามารถวางแผนการเงิน และปฏิบัติตามแผนนั้นให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสวยงามในช่วงวัยเรียน ก็เชื่อว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จทางการเงินได้ในอนาคต ไม่เพียงแค่ในช่วงวัยทำงาน แต่จะสร้างความมั่งคั่งต่อยอดได้เรื่อยไปจนถึงช่วงวัยเกษียณ เพราะได้ลงรากฐานวินัยทางการเงินไว้ได้อย่างแข็งแกร่งแล้วตั้งแต่ในช่วงวัยเรียน

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ