ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ vs. ประกันชีวิตควบการลงทุน ต่างกันอย่างไร

เป้าหมายทางการเงิน ก็เป็นเช่นเดียวกับเป้าหมายในเรื่องอื่น ๆ คือแต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจต้องการแค่ออมเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างหลักประกันให้กับตัวเองและครอบครัว ส่วนบางคนก็อาจมีเป้าหมายนำเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดผลตอบแทนให้มากขึ้น สำหรับการทำประกันชีวิตก็มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่แตกต่างกัน หากเป้าหมายหลักคือการออมเงินก็มีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ให้เลือกทำ สำหรับคนที่อยากได้ทั้งความคุ้มครองของประกันและอยากได้การลงทุนก็มีประกันชีวิตเพื่อการลงทุนให้เลือกทำได้เช่นกัน ในบทความนี้จะพาทุกคนไปดูว่าประกันแบบสะสมทรัพย์ VS ประกันชีวิตควบการลงทุน ทั้งสองแบบประกันต่างกันอย่างไร และแบบไหนเหมาะกับคุณ
ประกันแต่ละประเภทคืออะไร
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Life Insurance) เป็นรูปแบบของประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายกับการออมเงิน โดยผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี, 15 ปี , 20 ปี พร้อมด้วยผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ รวมถึงยังมีความคุ้มครองชีวิตตลอดระยะเวลาที่ถือกรมธรรม์ด้วย โดยเงินที่คุณจ่ายไปจะถูกนำไปเป็นค่าเบี้ยประกันสำหรับความคุ้มครองทั้งหมด
ส่วนประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เป็นประกันที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน โดยเงินส่วนหนึ่งจากเบี้ยประกันจะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกได้เอง ซึ่งไม่การันตีผลตอบแทนตั้งแต่ต้น เพราะการจะได้ผลตอบแทนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนของตัวคุณเอง
แนะนำบทความวางแผนการเงิน เปรียบเทียบประกันชีวิตแบบมีเงินปันผลและไม่มีเงินปันผล
ข้อดีและข้อเสียของแต่ละประเภท
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ข้อดีของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์คือสร้างวินัยในการออมเงิน เพราะการส่งเบี้ยประกันมีระยะเวลาและจำนวนเงินที่กำหนดแน่นอน หากจัดการไม่ได้ก็จะเสียสิทธิ์ความคุ้มครองที่ควรได้รับ นอกจากนี้ยังมีข้อดีในเรื่องของผลตอบแทน เพราะคุณจะรู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่าออมเงินแบบนี้แล้วเมื่อครบอายุสัญญาจะได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งโดยรวมแล้วแม้ว่าผลตอบแทนจะน้อยกว่าการลงทุนในกองทุน แต่ถือว่าสูงกว่าการฝากธนาคารอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย แปลว่าหากคุณเสียชีวิตขณะอยู่ในอายุความคุ้มครอง ก็จะมีเงินก้อนไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลัง นอกจากนี้เบี้ยประกันยังนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ประกันสะสมทรัพย์ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ได้ ทำให้อาจเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุน นอกจากนี้หากเกิดความจำเป็นเรื่องเงินขึ้นระหว่างอายุสัญญา ก็อาจทำให้ต้องเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับไม่เต็มจำนวน
• ประกันชีวิตควบการลงทุน
ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดของประกันแบบ Unit Linked คือโอกาสในการสร้างผลตอบแทน เพราะคุณเลือกเองได้ว่าจะนำเงินไปลงทุนเท่าไหร่และลงทุนในกองทุนรวมหรือสินทรัพย์ประเภทไหน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องการปรับความคุ้มครองให้เข้ากับความต้องการในขณะนั้น อีกทั้งยังสามารถปรับสัดส่วนในการลงทุนได้ด้วยตัวคุณเอง
ส่วนข้อเสียของประกันประเภทนี้คือความเสี่ยง เพราะผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกลงทุน รวมถึงขึ้นอยู่กับความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนด้วย หากมองในแง่การลดหย่อนภาษี เงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันประเภทนี้ก็ลดหย่อนภาษีได้ไม่เต็มที่ เพราะลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ส่วนที่ระบุว่าเป็นการลงทุนจะไม่สามารถลดหย่อนได้

ใครควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงิน
หากเลือกไม่ถูกว่าควรเลือกประกันแบบไหนดี ให้พิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือเป้าหมายทางการเงิน , ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง และความต้องการในอนาคต ซึ่งต่อไปนี้คือเป้าหมายที่เราสรุปมาให้แบบเข้าใจง่าย
หากเป้าหมายคือต้องการผลตอบแทนที่แน่นอน ไม่ต้องการนำเงินไปลงทุนกับสิ่งที่มีความเสี่ยง เพราะอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากเพียงพอ ประกันที่เหมาะกับคุณคือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
หากเน้นความคุ้มครองชีวิตและต้องการความมั่นใจว่าจะมีเงินก้อนให้คนที่อยู่ข้างหลังหากเกิดอะไรขึ้นกับคุณระหว่างอยู่ในอายุสัญญา ประกันที่เหมาะกับคุณก็คือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
หากต้องการทั้งความคุ้มครองชีวิตและต้องการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงเป็นคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ และติดตามแนวโน้มการลงทุนมากพอที่จะรู้ว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนหรือสินทรัพย์ประเภทไหน ถ้าต้องการทั้งสองอย่าง ประกันที่เหมาะกับคุณคือประกันชีวิตควบการลงทุน
การเลือกแผนประกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทำประกันแบบไหน สิ่งสำคัญคือต้องมีวินัยทางการเงิน ซึ่งวินัยทางการเงินถือเป็นพื้นฐานของการเก็บออม หากส่งเบี้ยประกันไม่ไหว ความคุ้มครองที่ควรได้รับก็จะหายไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการผลลัพธ์นี้ เพราะคุณอาจจะเสียโอกาสทางการเงินไปง่าย ๆ เพียงเพราะไม่มีวินัยการออม