ยาลดไขมัน อันตรายไหม

ยาลดไขมัน อันตรายไหม

ภาวะไขมันในเลือดสูง ภัยเงียบที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะแม้ไม่พบอาการแสดงใด ๆ หากแต่ไขมันที่มากเกินไปนั้นจะสะสมบริเวณผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน จึงเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจน ซึ่งเมื่อไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ตามปกติก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แนวทางการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมุ่งเน้นการลดระดับคอเลสเทอรอลด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการใช้ยา หรือในบางรายอาจจะใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน

ยาลดไขมันคืออะไร

หากผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วแต่ยังไม่สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมได้ หรือกรณีที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย การใช้ยาลดไขมันจึงเป็นทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหา โดยยาลดไขมันในเลือดนั้นเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซึ่งทำหน้าที่สร้างไขมันในร่างกาย จึงช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไปเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ , โรคหลอดเลือดในสมอง , ภาวะเส้นเลือดตีบตัน เป็นต้น

ยาลดไขมันมีกี่ชนิด

สำหรับยาลดไขมัน ประเภทยารับประทานนั้น มี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1. ยาสำหรับผู้ที่มีคอเลสเทอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) สูง ได้แก่

  • ยากลุ่มสแตติน (Statins) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเทอรอลจึงทำให้ตับผลิตคอเลสเทอรอลลดลง เช่น
  • Simvastatin : ช่วยรักษาอาการผิดปกติของไขมันในเส้นเลือดเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด และหลอดเลือดสมองตีบ เป็นตัวยาที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน
  • Atorvastatin : ช่วยลดปริมาณไขมันเลวในร่างกายพร้อมรักษาระดับคอเลสเทอรอล จึงลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
  • Rosuvastatin : มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งไขมันเลว และกระตุ้นการสร้างไขมันดี จึงเป็นตัวยาที่แพทย์นิยมใช้ในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  • Pravastatin : ยาลดไขมันในเลือดที่แพทย์นิยมใช้ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
  • Fluvastatin : ช่วยลดปริมาณไขมันเลวในร่างกายจึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สามารถใช้ได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป
  • Pitavastatin : ออกฤทธิ์แรงกว่ายา Atorvastatin ถึง 6 เท่า สามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป เพื่อรักษาระดับไขมันในเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน
  • Bile acid sequestrants (BAS) ยากลุ่มนี้จะเข้าไปจับตัวกับน้ำดีแล้วขับออกทางอุจจาระ ส่งผลให้ตับต้องใช้คอเลสเทอรอลในการสร้างน้ำดีแทน เช่น Cholestyramine
  • Ezetimibe มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเทอรอลจากทางเดินอาหาร เช่น Ezetimibe
ยาลดไขมันมีกี่ชนิด

2. ยาสำหรับผู้ที่มีไทรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่

  • ไฟเบรต (Fibrates) ออกฤทธิ์ในการช่วยเพิ่มการกำจัดไขมันประเภทที่มีไทรกลีเซอไรด์เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น Fenofibrate , Gemfibrozil , Pemafibrate เป็นต้น
  • กรดไขมันโอเมกา-3 ช่วยยับยั้งการดูดซึมไทรกลีเซอไรด์จากลำไส้ และลดการสังเคราะห์ไทรกลีเซอไรด์ที่ตับ เช่น Ethyl icosapentate , Omega-3 fatty acid
  • ไนอะซินและอนุพันธ์ (Nicotinic acids) ช่วยลดการสร้างไทรกลีเซอไรด์จากตับ เช่น Niacin

นอกจากนี้ยังมียาลดไขมันในเลือดรูปแบบฉีดซึ่งเป็นนวัตกรรมการรักษาผู้มีภาวะไขมันสูงรูปแบบใหม่ที่อาจยังไม่แพร่หลายมากนัก

ยาลดไขมันในเลือดอันตรายไหม

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ สมควรเพื่อรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจพบผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ , คลื่นไส้ , อาเจียน , ปวดท้องอ่อน ๆ ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปภายใน 1-2 เดือน แต่หากพบว่าปัสสาวะมีสีคล้ำ มีอาการอ่อนเพลีย และปวดเมื่อยร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบหยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจจะแพ้ยา หรือร่างกายตอบสนองต่อยาได้ไม่ดีนัก

ทั้งนี้การใช้ยาลดไขมันในเลือดเป็นเวลานานอาจทำให้มีตะกอนตกค้างในไตส่งผลให้ระบบการทำงานของไตผิดปกติได้ การใช้ยาลดไขมันในเลือดจึงควรอยู่ภายใต้การพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาดเนื่องจากต้องมีการคำนวณปริมาณยาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดยาเองเพราะภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ปรากฏอาการจึงไม่สามารถทราบได้ว่าขณะนั้นระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ การหยุดยาด้วยตนเองจึงเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ , ไขมันอุดตันในเส้นเลือด , หลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น

ยาลดไขมันในเลือดอันตรายไหม

ยาลดไขมันในเลือดห้ามกินรวมกับยาอะไรบ้าง

การใช้ยาลดไขมันในเลือดห้ามรับประทานร่วมกับกลุ่มยาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มยาที่เกี่ยวกับโรคไต
  • กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น Clarithromycin หรือErythromycin
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อไวรัส ได้แก่ Atazanavir Lopinavir Ritonavir เป็นต้น
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ Fluconazole และ Ketoconazole

ยาลดไขมันในเลือดควรใช้กับผู้ที่มีปริมาณไขมันในเลือดสูงกว่า 240 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะจ่ายยาโดยพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เป็นสำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาลดไขมันในเลือดรับประทานเองเพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้

ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ