ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ด้วยบัตรประชาชน

ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ด้วยบัตรประชาชน

เงินประกันสังคม หรือเรียกเต็มๆ ว่า เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างส่งเข้าสมทบกองทุนฯ ทุกเดือนในฐานะเงินออมภาคบังคับที่เก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ มีอยู่ 3 รูปแบบหลักด้วยกัน คือ ม.33, ม.39 และ ม.40 หลายคนอาจยังไม่เคย ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม และเข้าใจว่าเงินประกันสังคมที่ถูกหักออกไปทุกเดือนคืออะไร มีความจำเป็นอย่างไร สิทธิประกันสังคมมีอะไรบ้าง มาติดตามกันเลย

วิธีตรวจสอบสิทธิประกันสังคมออนไลน์ง่ายๆ

  • วิธีที่ 1 เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน และคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ” หน้าเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลว่าผู้ประกันตนมาตราอะไร เลขบัตรประจำตัวประชาชน สามารถเลือกดูข้อมูลต่างๆ ได้เลย
  • วิธีที่ 2 ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันประกันสังคม SSO Connect ได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android จากนั้นกรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน คลิกเข้าสู่ระบบ (Login) ที่จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน เช่น ชื่อและนามสกุล โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิประกันสังคมได้ ผู้ประกันเลือกดูข้อมูลที่ต้องการได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องสมัครเข้าระบบประกันสังคมแล้ว ต้องการเช็คข้อมูลของตนผ่านเว็บประกันสังคม จำเป็นต้องสมัครสมาชิกเข้าใช้งานในฐานะผู้ประกันตนผ่านเว็บประกันสังคมก่อน

โดยเข้าไปสมัครที่ www.sso.go.th เมื่อผู้ประกันตนลงทะเบียนสำเร็จก็ใช้เลขบัตรประชาชนกรอกเข้าใช้งานและเช็คสิทธิประกันสังคมของตนเองผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายๆ ทราบทันทีเลยว่าสามารถใช้สิทธิประกันสังคมอะไรได้บ้าง

เช็กประกันสังคม ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

เช็กประกันสังคม ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ก่อนอื่นจะต้องอธิบายเรื่องประกันสังคมทั้ง 3 มาตรา ได้แก่ ม.33 ม.39 และ ม.40 ให้ชัดเจนว่าแตกต่างกันอย่างไร

มาตรา 33 (ภาคบังคับ) สำหรับพนักงานเอกชนทั่วไป

  • คุณสมบัติของผู้ประกันตน เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
  • จ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน จำนวน 5% ของฐานเงินเดือน (ไม่เกิน 750 บาท/เดือน)
  • การให้ความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 10,000 บาท นำส่งประกันสังคม 500 บาท, เงินเดือน 15,000 บาท นำส่งประกันสังคม 750 บาท , เงินเดือน 25,000 บาท นำส่งประกันสังคมสูงสุด 750 บาท

มาตรา 39 สำหรับอดีตพนักงานที่ลาออกแล้ว

  • คุณสมบัติของผู้ประกันตน เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน 432 บาท/เดือน เท่ากันทุกคน
  • กรณีผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานอีกครั้ง นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนอีกครั้งภายใน 30 วันตั้งแต่วันที่เข้าทำงาน ประกันสังคมจะปรับจากมาตรา 39 เป็นมาตรา 33 โดยอัตโนมัติ
มาตรา 40 สำหรับฟรีแลนซ์ หรือแรงงานนอกระบบ

มาตรา 40 สำหรับฟรีแลนซ์ หรือแรงงานนอกระบบ

คุณสมบัติของผู้ประกันตนมาตรา 40 ประกอบอาชีพอิสระ ทำงานแบบไม่มีนายจ้าง เช่น พ่อค้า เกษตรกร คนขับรถแท็กซี่ หรือทำงานฟรีแลนซ์ สามารถสมัครประกันสังคมเพื่อประกันตนเองได้

โดยจะต้องมีอายุระหว่าง 15 ถึง 65 ปี ประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 3-4-5 กรณี ตามยอดเงินสมทบ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

ส่งเงินสมทบ 70 บาท/เดือน (รัฐสนับสนุน 30 บาท) คุ้มครอง 3 กรณี

  • 1. คุ้มครองประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย รับสูงสุด 300 บาท/วัน ไม่เกินปีละ 30 วัน
  • 2. ทุพพลภาพรับเงินชดเชย 500 – 1,000 บาท/เดือน ไม่เกิน 15 ปี
  • 3. กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 25,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบเกิน 60 เดือน จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท

ส่งเงินสมทบ 100 บาท/เดือน (รัฐสนับสนุน 50 บาท) คุ้มครอง 4 กรณี

  • 1. คุ้มครองประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย รับสูงสุด 300 บาท/วัน ไม่เกินปีละ 30 วัน
  • 2. ทุพพลภาพรับเงินชดเชย 500 – 1,000 บาท/เดือน ไม่เกิน 15 ปี
  • 3. กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 25,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบเกิน 60 เดือน จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท
  • 4. บำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน

ส่งเงินสมทบ 300 บาท/เดือน (รัฐสนับสนุน 150 บาท) คุ้มครอง 5 กรณี

  • 1. คุ้มครองประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย รับสูงสุด 300 บาท/วัน ไม่เกินปีละ 90 วัน
  • 2. ทุพพลภาพรับเงินชดเชย 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต
  • 3. กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • 4. บำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน
  • 5. เงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือนต่อคน ครั้งละไม่เกิน 2 คน

*กรณีเสียชีวิต วิธีเบิกเงินสมทบประกันสังคมทำอย่างไร รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่

อยากได้สิทธิประกันสังคมทำอย่างไร

อยากได้สิทธิประกันสังคมทำอย่างไร

คนที่ไม่ได้ทำงานประจำ แต่อยากได้สิทธิประกันสังคมเหมือนคนอื่น ถามว่าเป็นไปได้ไหม คำถามนี้แบ่งออกเป็น 2 คำตอบ คือ

  • 1. ไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย ทางเลือกเดียวคือสมัครมาตรา 40
  • 2. เคยทำงานประจำและจ่ายประกันสังคมมาตรา 39 แต่ภายหลังไม่ได้ทำงาน หรือลาออกมาทำอาชีพอิสระ สมัครทำประกันสังคมต่อตามมาตรา 39 ได้ แต่ต้องรีบทำหลังออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือน หากล่าช้ากว่านั้นจะสมัครได้แค่มาตรา 40 เท่านั้น

สรุปง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่เคยทำงานประจำมาก่อน อยากใช้สิทธิประกันสังคม สมัครประกันมาตรา 40 เป็นทางเลือกเดียวที่ทำได้ ยื่นสมัครได้เลยโดยเตรียมบัตรประชาชนพร้อมสำเนา และแบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 นำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ

หลังจากนั้นส่งเงินสมทบด้วยการหักผ่านบัญชีธนาคารหรือยื่นชำระเองก็ได้ผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส, ธนาคารกรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, ห้างเทสโก้โลตัส, ไปรษณีย์ทุกแห่ง หรือจะชำระเองที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้

ที่ไม่กล่าวไม่ได้ คือ จุดด้อยของมาตรา 40 คือ ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะใช้สิทธิ์ประกันสังคมไม่ได้ ต้องหันไปใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองแทน ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

ส่งเงินสมทบประกันสังคม ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้กี่บาท

สำหรับหลายคนที่มักจะขมวดคิ้วเวลาเปิดดูสลิปเงินเดือนที่โดนหักเงินส่งสมทบประกันสังคมไปทุกเดือน ความจริงเงินสมทบส่วนนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปเป็นหลักฐานยื่นขอลดหย่อนภาษีประจำปีได้

  • มาตรา 33 สามารถขอเอกสารรับรองการหักภาษีและเงินสมทบประกันสังคมที่หักไว้ไปยื่นเสียภาษีจะได้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท
  • มาตรา 39 และ 40 ให้นำบัตรประชาชนตัวจริงไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข) นำไปใช้เป็นหลักฐานยื่นภาษีเงินได้ โดยมาตรา 39 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 3,585 บาท และมาตรา 40 ลดหย่อนได้สูงสุด 2,880 บาท

เงินประกันตนนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่หลายๆ คนคิด ไม่อยากขาดสิทธิ อย่าขาดส่งเงินสมทบทุกเดือน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ทำประกันสังคม เมื่อตัดสินใจเลือกได้แล้วก็ไปสมัครกันได้เลย