ค่าน้ำตาลในเลือดขึ้นต้องทำอย่างไร

ค่าน้ำตาลในเลือดขึ้นต้องทำอย่างไร

ในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็น ‘โรคเบาหวาน’ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว จะมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นกลไกในร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ภาวะปกติ แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ไปดูกันว่าถ้าน้ำตาลในเลือดสูงจะต้องทำอย่างไรบ้าง

เมื่อเรารับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำหวาน หรือแม้กระทั่งผลไม้ที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเป็นส่วนประกอบ เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย น้ำตาลเหล่านี้จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่มีชื่อว่า ‘กลูโคส’ ต่อมาร่างกายก็มีจะกลไกสำหรับลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้าสู่เซลล์และเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยอินซูลินเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าหากกลไกการสร้าง หรือการนำอินซูลินไปใช้มีความบกพร่อง ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา

ในกรณีที่ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติในผู้ป่วยเบาหวาน มักมีอาการอ่อนเพลีย , อาเจียน แนะนำให้รีบวัดน้ำตาลในเลือดแบบปลายนิ้วว่ามีค่าน้ำตาลสูงเท่าไหร่ เมื่อทราบค่าน้ำตาลแล้ว ให้จิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่เหมาะสม แล้วคอยวัดค่าน้ำตาลในเลือดจนกว่าค่าน้ำตาลลดเหลือค่าปกติ วิธีนี้จะช่วยให้ค่าน้ำตาลในเลือดค่อยๆ ลดลง หากมีอาการหนัก อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ในทางกลับกัน หากค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติในผู้ป่วยเบาหวาน มักมีอาการเหงื่อออก , มือไม้สั่น แนะนำให้วัดน้ำตาลในเลือดแบบปลายนิ้วเช่นกัน เมื่อทราบค่าน้ำตาลที่ต่ำแล้ว ให้ค่อย ๆ จิบน้ำหวาน เช่น น้ำเปล่าผสมน้ำเชื่อมเฮลบลูบอย โดยให้ผสมแบบเจือจาง ไม่หวานมาก ค่อย ๆ จิบทีละน้อย ไม่ดื่มในปริมาณคราวละมาก ๆ และไม่ควรดื่มน้ำหวานที่หวานเกินไป เพราะจะทำให้ค่าน้ำตาลแกว่งหรือสวิง ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ที่แย่ยิ่งขึ้นตามมา จากนั้นให้คอยวัดค่าน้ำตาลในเลือดจนกว่าค่าน้ำตาลจะเป็นปกติจึงหยุดจิบน้ำหวาน หากมีอาการหนัก อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน มีหลายวิธี ประกอบด้วย

เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน มีหลายวิธี ประกอบด้วย

  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชม. ≥ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.)
  • ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ≥ 6.5 %
  • ระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชม. หลังดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม ≥ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือด ≥ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด

หากตรวจระดับน้ำตาลหลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง อาจได้ค่าที่แตกต่างกัน โดยสามารถประเมินผลเบื้องต้นได้ดังนี้

ปกติ : ระดับน้ำตาล 70-99 มก./ดล.
มีความเสี่ยง : 100-125 มก./ดล.
ผิดปกติ: 126 มก./ดล.

บางครั้งหากระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 126 มก./ดล. แต่มีอาการอื่นที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย, หิวน้ำบ่อย, น้ำหนักลด แพทย์อาจพิจารณาสั่งตรวจอย่างอื่นเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

อาการของผู้ที่เป็นเบาหวาน

อาการของผู้ที่เป็นเบาหวาน มีทั้งอาการแบบเฉียบพลันและอาการแทรกซ้อนเรื้อรัง โดยอาการน้ำตาลสูงเฉียบพลัน ตัวอย่างเช่น อ่อนเพลีย , คลื่นไส้ , อาเจียน , หายใจหอบเหนื่อย , การรับรู้ลดลง , ซึม , หมดสติ ส่วนอาการแทรกซ้อนเรื้อรังก็พบได้หลายแบบ เช่น ตาพร่ามัว , ไตวาย , ชาตามปลายมือปลายเท้า , กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด , หัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นโรคเบาหวานอีก เช่น แผลหายช้า , คันตามผิวหนัง , คันช่องคลอด และติดเชื้อราได้ง่าย เป็นต้น

วิธีการรักษาเบาหวาน

วิธีการรักษาเบาหวาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค โดยโรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ประกอบด้วย

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากเบต้าเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อนซึ่งเป็นแหล่งผลิตอินซูลินทำงานไม่ได้ โดยถูกภูมิคุ้มกันของตัวเองทำลาย มักจะพบในเด็ก ต้องรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนอินซูลิน

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน คือตับอ่อนสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ร่างกายนำไปใช้ได้ลดลง เมื่อตับอ่อนถูกกระตุ้นให้ผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเป็นระยะเวลานานก็เกิดเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลงจนเกิดเป็นเบาหวานตามมา ผู้ป่วยควรดูแลรักษาตนเองด้วยการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจต้องใช้ยาอินซูลินร่วมด้วย

3. เบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ , ตับอ่อนอักเสบ , ตับอ่อนถูกทำลายด้วยมะเร็ง , แอลกอฮอล์ หรือตับอ่อนถูกตัดเนื่องจากอุบัติเหตุ การใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

วิธีการป้องกัน

วิธีการป้องกัน

วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน สามารถทำได้ง่ายเริ่มจากที่ตัวเรา เช่น

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีเส้นใย เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมันอิ่มตัว และอาหารรสจัด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เป็นประจำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอน 7-8 ชั่วโมง/วัน
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • ไม่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นเบาหวานแล้ว อาจมีโรคต่าง ๆ ตามมามากมายซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นมาด้วย สำหรับใครที่มีความเสี่ยง หรือต้องการความคุ้มครองด้านการรักษาสำหรับโรคเบาหวาน การสมัครประกันที่ครอบคลุมการรักษาเบาหวานก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ ซึ่งประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงของหลาย ๆ ที่อาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายโรคเบาหวาน แต่ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ ประกันเฉพาะโรคเบาหวานที่หลายบริษัทออกแพ็คเกจมาให้ผู้สนใจได้เลือกสมัครตามความต้องการ มีทั้งสำหรับคนที่ยังไม่เป็นและตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน(บางชนิด)แล้ว

ทั้งนี้ก่อนที่จะทำประกัน ควรตรวจสอบรายละเอียดของกรมธรรม์นั้นเสียก่อนว่าครอบคลุมความต้องการครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงวงเงินคุ้มครอง , ค่าเบี้ยประกัน , เงื่อนไขการรับประกัน รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันด้วย ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ