โรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับ

การนำเนื้อหมูที่ไม่สุกมาปรุงรสทาน หรือแม้แต่การนำมาทำเมนูอาหารประเภทกึ่งสุกกึ่งดิบ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นบ้านของไทยในหมูชาวอิสานอย่าง ลาบเลือด , ก้อยหมู , หลู้หมูดิบอาหารล้านนาที่หลายคนชื่นชอบ และอาหารท็อปฮิตของคนยุคใหม่ ทั้งเมนูปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู ถึงแม้จะทำให้สุกแต่ถ้ามีการสัมผัสเนื้อหมูดิบในระหว่างรับประทาน ก็ยังคงไม่ปลอดภัยอยู่ดี ผู้ที่รับประทาน หรือสัมผัสหมูดิบควรระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดโรคไข้หูดับ โรคนี้ไม่ธรรมดา มีอันตรายถึงชีวิต

โรคไข้หูดับคืออะไร

โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในเลือดหมู หมูแทบทุกตัวจะมีเชื้อนี้อยู่ ถ้ายังมีน้อยหมูก็จะไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเชื้อเริ่มมีมากขึ้น หมูจะอ่อนแอและป่วย เชื้อก็จะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นทำให้หมูตาย แบคทีเรียชนิดนี้คือ สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ หากมีการ

  • บริโภคเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่เป็นโรค แบบดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • สัมผัสเนื้อหมูและเลือดหมูที่เป็นโรค ถ้าร่างกายบาดแผลก็จะเป็นการเปิดทางให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น หรืออาจผ่านเข้ามาทางเยื่อบุตาก็ได้

เชื้อที่เข้าสู่ร่างกายคนจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการ หากไม่รักษา เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายเข้าไปยังเยื่อหุ้มสมอง และประสาทหูชั้นในซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใกล้เคียงกันทำให้หูดับ หูตึงไม่ได้ยินเสียงและอาจจะทำให้หูหนวกได้ หากเชื้อลุกลามมากขึ้นอาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด จะทำให้เสียชีวิตได้

อาการเป็นอย่างไร

หลังจากผ่านระยะฟักตัวของเชื้อแบคทีเรีย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเหล่านี้

อาการเป็นอย่างไร
  • มีไข้สูง สั่น รู้สึกหนาวข้างใน
  • ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • มีรอยแดงคล้ำเป็นจ้ำ ๆ ตามผิวหนัง
  • เซื่องซึม อาจมีอารมณ์แปรปรวน
  • คอแข็ง ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการชัก
  • เมื่อเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่บ่งบอกอย่างชัดเจนคือ หูดับ หูตึง ไม่ได้ยินเสียง

การรักษาเยียวยาโรคไข้หูดับทำอย่างไร

เมื่อเริ่มเป็นไข้ควรรีบไปพบแพทย์ หากแพทย์พบว่ามีอาการที่บ่งบอกว่าติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำการรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในระหว่างที่ให้ยา ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลไข้และประคับประคองอาการที่เป็นอยู่ให้บรรเทาลง พร้อมกับการให้น้ำเกลือและสารอาหารช่วยลดความอ่อนเพลียจากการติดเชื้อ ร่างกายที่อ่อนแอจะไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้

วิธีป้องกัน

โรคไข้หูดับมีอันตรายร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษา แต่วิธีที่ดีกว่าก็คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ใครที่ชอบทานเนื้อหมูแบบดิบ ๆ สุก ๆ ให้ตัดใจเสีย ถึงแม้จะโชคดีที่ไม่เจอเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ แต่ในเนื้อหมูและเลือดหมูดิบก็มีเชื้อโรคและพยาธิอยู่ดี อีกทั้งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าหมูที่นำมาประกอบอาหารนั้น เป็นหมูที่เป็นโรคตายหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยควรงดเว้นไว้ดีที่สุด และควรปรับวิถีชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงสุขอนามัยเป็นสำคัญด้วยวิธีป้องกันดังต่อไปนี้

วิธีป้องกัน
  • ล้างมือก่อนและหลังทำอาหาร หรือรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ไม่ควรหยิบจับหมูสดด้วยมือเปล่า และถ้ามีแผลให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูแบบ 100% เช่น การรับปะทานหมูกระทะ ควรแยกตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อสด กับตะเกียบที่ใช้คีบอาหารรับประทาน ให้ใช้คนละคู่กันไปเลยเพื่อป้องกันเชื้อจากหมูดิบปนเปื้อนกับหมูสุก
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับแกล้มที่เป็นหมูดิบ เพราะจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นจากการที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อง่ายขึ้น
  • การทำอาหารควรปรุงสุกเท่านั้น ไม่ทานเนื้อหมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • เลือกซื้อหมูจากร้านค้าและโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น
  • สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในฟาร์มหมู ควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสะอาดตนเองเป็นอย่างดี สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิด

อันตรายจากหมูดิบไม่ใช่เพียงแค่โรคไข้หูดับ แต่ยังมีเรื่องของพยาธิที่จะเข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของอวัยวะในร่างกาย ไข่พยาธิสามารถเติบโตในลำไส้มนุษย์ได้ และมันสามารถที่จะทำลายอวัยะสำคัญของคนเราจนถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกับเชื้อแบคทีเรีย ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ