มอเตอร์ไซค์ล้ม เป็นแผล ดูแลแผลอย่างไรไม่ให้ทิ้งรอยแผลเป็น

มอเตอร์ไซค์ล้ม เป็นแผล ดูแลแผลอย่างไรไม่ให้ทิ้งรอยแผลเป็น

การขี่มอเตอร์ไซค์มีความคล่องตัวมากกว่าขับรถยนต์ แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าและเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารก็จะได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเลือดตกยางออกได้ง่ายกว่า หรือเกิดความรุนแรงเสียหายต่อร่างกายได้มากกว่า เพราะรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้มีโครงสร้างหรืออุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายเท่ากับรถยนต์ แค่มอเตอร์ไซค์ล้มเบา ๆ ก็อาจเกิดแผลได้แล้ว และถ้าเป็นการล้มที่รุนแรงหรือเกิดอุบัติเหตุรถชนกันอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บอื่นที่น่ากลัวมากขึ้นไปอีกก็ได้

ในกรณีที่มอเตอร์ไซค์ล้ม เป็นแผล ถ้ามองในแง่ดีคือไม่ได้รับอันตรายร้ายแรง ถ้าแผลไม่ใหญ่มาก สามารถทำการปฐมพยาบาลเองในเบื้องต้นได้ ผู้ได้รับอุบัติเหตุหรือผู้ใกล้ชิดควรรู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง และการดูแลรักษาแผลว่าควรทำอย่างไร แต่ก่อนอื่นควรรู้ถึงลักษณะของแผลที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์ล้มกันก่อน

ลักษณะแผลมอเตอร์ไซค์ล้มเป็นอย่างไร?

แผลจากมอเตอร์ไซค์ล้มจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับว่าล้มเพราะอะไร เกิดจากการขับรถด้วยความเร็วแล้วชนกับสิ่งกีดขวางทำให้ล้มอย่างแรง หรือล้มเพราะเสียหลักขณะขับขี่เพียงเล็กน้อย ลักษณะของแผลรถล้มมีหลายลักษณะ คือ

  • • แผลถลอกตามร่างกาย อาจเกิดแผลที่แขน ขา หรือส่วนต่าง ๆ ของลำตัว ถ้าเป็นการล้มอย่างแรง ตัวกระเด็นลื่นไถลไปตามพื้นถนน จะได้รับบาดเจ็บมากและมีเลือดออกมาก แต่ถ้าไม่แรงก็แค่ถลอก ผิวหนังเปิด มีเลือดไหลซึม หรือฟกช้ำดำเขียวเล็กน้อย
  • • เจ็บหรือปวดที่ศีรษะ เกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้ศีรษะถูกกระทบกระแทก อาจมองเห็นเป็นรอยช้ำ หนังศีรษะถลอก หรือหัวแตก อุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ล้มส่วนใหญ่พบว่ามีอาการที่ศีรษะถึง 65% เป็นเพราะผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่สวมหมวกกันน็อค จุดที่ได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยที่สุดคือหน้าผาก , ด้านบนของศีรษะ
  • • เจ็บอกแน่นหน้าอก ถ้าโชคดีคือแค่ผิวช้ำทำให้เจ็บหน้าอก แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาการแน่นหน้าอกนี้อาจเกิดได้จากการที่กล้ามเนื้ออักเสบ หรือกระดูกหักแล้วไปทิ่มปอด ทำให้มีเลือดในปอดจึงมีอาการเจ็บแน่น หายใจไม่ออกได้ ต้องได้รับการเอกซเรย์ วินิจฉัยอย่างละเอียดว่าข้างในร่างกายได้รับการกระทบกระเทือนลักษณะใด รุนแรงหรือไม่
  • • แขนขาปวด ขยับไม่ได้ มีแนวโน้มว่าจะได้รับอุบัติเหตุจนกระดูกหัก อาจเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง
มอเตอร์ไซค์ล้มบาดเจ็บปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร?

มอเตอร์ไซค์ล้มบาดเจ็บปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร?

แผลที่เกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ล้มไม่แรงมาก และมีอาการเพียงแค่ฟกช้ำธรรมดา หรือเป็นแผลถลอกเล็กน้อย วิธีปฐมพยาบาล คือ

  • • ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำเกลือขวดสำเร็จรูป พยายามเช็ดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ออกจากบริเวณแผลด้วยความเบามือเพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือนมากกว่าเดิม
  • • ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา เช่น โพวิโดน , ไอโอดีน เพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้แผลอักเสบติดเชื้อ
  • • ทาปิโตรเลียมเจลลี่บาง ๆ เพื่อช่วยเคลือบแผลไม่ให้แห้งเกินไป
  • • ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
  • • ทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อซทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • • รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผู้บาดเจ็บอาจรู้สึกเจ็บแผลมากขึ้น

วิธีข้างต้นนี้เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแผลถลอกไม่มาก เลือดไม่เยอะ ผู้บาดเจ็บอาจปฐมพยาบาลเอง หรือให้ผู้อื่นที่อยู่ในเหตุการณ์หรือคนใกล้ชิดทำให้ แต่ถ้าแผลรุนแรงกว่านี้ มีเลือดออกมาก หรือพบว่ามีวัตถุแปลกปลอมติดคาอยู่ที่แผล เช่น เศษกระจก , เศษหิน ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ควรพาผู้บาดเจ็บไปพบแพทย์ทันที

กินอาหารช่วยฟื้นฟูแผลให้หายเร็ว

คนไทยเราสมัยก่อนมีความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่า “เวลาเป็นแผล ห้ามกินอาหารบางชนิด” เพราะจะเกิดอาการที่เรียกว่า ‘แสลง’ ซึ่งหมายถึงอาการผิดสำแดงทำให้แผลอักเสบมากขึ้น แผลหายช้ากว่าปกติ อาหารที่เชื่อว่าแสลงมีหลายอย่าง เช่น ไข่ , เนื้อสัตว์ , ไขมัน , อาหารทะเล แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงความเชื่อ

ตามหลักความจริงแล้วนั้น อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะไข่ , เนื้อสัตว์ , เนื้อปลา ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นอาหารประเภทโปรตีน คุณค่าของโปรตีนคือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยสร้างเนื้อเยื่อ ดีต่อการฟื้นฟูแผลให้หายเร็วขึ้น ส่วนไขมันนั้น การเลือกทานเฉพาะไขมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก , น้ำมันถั่วเหลือง ไม่ได้มีผลเสียต่อแผลแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถกินอาหารประเภทวิตามิน เช่น วิตามินอี , วิตามินซี จะช่วยเสริมสร้างเซลล์ผิวให้แข็งแรงขึ้น แผลจะได้หายเร็ว อย่างไรก็ตามมีอาหารบางประเภทที่ควรงดหากร่างกายเกิดแผล เช่น แอลกอฮอล์ , ของหมักดอง (เช่น ผักดอง ไส้กรอกอีสาน ปลาร้า เป็นต้น) , อาหารดิบ ฯลฯ

วิธีรักษาแผลไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น?

สิ่งที่ผู้บาดเจ็บเป็นกังวลคือเมื่อแผลหายแล้วจะเหลือรอยแผลเป็นให้แทงใจขนาดไหน วิธีที่จะดูแลรักษาไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น ควรทำอย่างไร ข้อแรกคือ

  • • ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ เพราะน้ำเกลือไม่ทำลายเนื้อเยื่อ จึงไม่ทำให้เกิดแผลเป็นได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ล้างแผล เพราะอาจระคายเคืองทำให้เป็นแผลเป็นได้
  • • ไม่แกะ ไม่เกาแผล ในขณะที่แผลเริ่มแห้งเริ่มมีสะเก็ดขึ้นมา บางคนชอบแกะสะเก็ดแผลเล่น ซึ่งนอกจากจะทำให้แผลหายช้าลงแล้ว ยังทำให้เป็นแผลเป็นได้อีกด้วย
  • • ใช้ยาทาลดรอยแผลเป็นหลังจากที่แผลแห้งแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการรักษาและดูแลแผลที่สามารถทำเองได้ อย่างไรก็ตามการระมัดระวังเมื่อใช้รถใช้ถนนเป็นวิธีตัดปัญหาไม่ให้เกิดแผลตั้งแต่แรกซึ่งแน่นอนว่าย่อมดีกว่าการขับขี่รถโดยประมาท เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่มีใครบอกได้ว่าผลที่ได้รับจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อาจไม่ใช่แค่แผลธรรมดาที่ฝากไว้ ปลอดภัยไว้ก่อนคือดีที่สุด TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส โบรกเกอร์ประกันภัย พร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านประกันรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ เราพร้อมดูแลคุณในทุกขั้นตอนเพื่อให้คุณได้บริษัทประกันที่ตรงใจพร้อมแบบประกันภัยที่ตอบโจทย์